บมจ.ไทยออยล์ วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน โดยมอง"ความไม่แน่นอนในซีเรียและอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว หนุนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มเล็กน้อย "
น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสส่งมอบ ต.ค. ปรับลดลง 0.39 เหรียญฯ ปิดที่ 108.21 เหรียญฯ ส่วนเบรนท์ส่งมอบ ต.ค.(วันสิ้นสุดสัญญา) ปรับเพิ่มขึ้น 0.15 เหรียญฯ ปิดที่ 112.78 เหรียญฯ ขณะที่เบรนท์ส่งมอบ พ.ย. อยู่ที่ 111.70 เหรียญฯต่อบาร์เรล
+ สถานการณ์ด้านอุปทานน้ำมันดิบในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาโดยรวมยังค่อนข้างตึงตัว ล่าสุดบริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบียประกาศงดส่งออกน้ำมันดิบจากท่าเรือส่งออกหลักสามแห่ง ส่งผลให้ปริมาณส่งออกน้ำมันจากลิเบียปัจจุบันลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 150,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับกว่า 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันก่อนที่จะเกิดเหตุประท้วงของคนงานบริษัทน้ำมัน
+ รวมทั้งปริมาณส่งออกน้ำมันดิบจากอิรักในเดือนก.ย.ถึงกลางเดือนต.ค. คาดว่าจะปรับลดลงเนื่องจากการซ่อมบำรุงท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบทางตอนใต้ของประเทศ โดยในช่วง 12 วันแรกของเดือนก.ย. ปริมาณส่งออกน้ำมันดิบจากท่าเรือทางตอนใต้ของอิรักอยู่ที่ประมาณ 1.96 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจาก 2.31 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนส.ค.
+ นอกจากนี้ บริษัทน้ำมัน Conoco ประกาศผ่านทาง website ของบริษัทฯ เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมาว่าจะหยุดซ่อมบำรุงแท่นผลิตน้ำมันดิบบางส่วนในแถบทะเลเหนือในช่วงสัปดาห์หน้าส่งผลให้ปริมาณผลิตน้ำมันดิบ Ekofisk ซึ่งเป็นน้ำมันดิบชนิดหนึ่งในแถบทะเลเหนือปรับลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 240,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนก.ย. จากระดับปกติที่ 350,000 บาร์เรลต่อวัน
+/- นักลงทุนยังคงไม่วางใจและติดตามสถานการณ์ในซีเรียอย่างใกล้ชิด โดยล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมารัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯและรัสเซียหารือกันอย่างเข้มข้นถึงแนวทางปลดอาวุธเคมีในซีเรีย ขณะที่ผู้นำซีเรีย ยืนยันครั้งแรกจะส่งมอบอาวุธเคมีให้นานาชาติควบคุมเพื่อทำลายทิ้ง ทั้งนี้รัฐมนตรีสหรัฐฯยังคงระบุว่าการใช้กำลังทหารยังจำเป็นหากซีเรียไม่ยอมส่งมอบอาวุธตามสัญญา
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงหนุนบางส่วนจากปริมาณนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้นจากปากีสถาน แต่อย่างไรก็ดีโดยรวมความต้องการนำเข้าภายในภูมิภาคโดยเฉพาะจากอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ในเดือนต.ค. ยังค่อนข้างต่ำและกดดันราคาน้ำมันเบนซินภายในภูมิภาค
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ อย่างไรก็ดีในภาพรวมตลาดน้ำมันดีเซลภายในภูมิภาคยังถูกกดดันจากอุปทานที่ค่อนข้างมากโดยล่าสุดปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังที่สิงคโปร์ปรับเพิ่มขึ้นมากสุดในรอบ 7 เดือน เนื่องจากปริมาณส่งออกที่เพิ่มมากขึ้นจากเกาหลีใต้และอินเดีย นอกจากนี้ตลาดยังคาดว่าในช่วงไตรมาส 4 ปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซลจากจีนจะเพิ่มมากขึ้นกว่าในช่วงไตรมาส 3
ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้จะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบเดิม โดยเวสต์เท็กซัสจะอยู่ที่กรอบ 105-111 เหรียญฯ ส่วนเบรนท์จะอยู่ที่กรอบ 109-115 เหรียญฯ โดยในสัปดาห์นี้ตลาดเฝ้าจับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงกลางสัปดาห์ ขณะที่การเจรจาเรื่องปัญหาซีเรียก็ยังอยู่ในความสนใจ ส่วนในวันนี้ติดตามผลสำรวจดัชนีภาคอุตสาหกรรมของรัฐนิวยอร์ค และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่
วันจันทร์: ผลสำรวจดัชนีภาคอุตสาหกรรมของรัฐนิวยอร์ค และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ
วันอังคาร: ความรู้สึกต่อภาวะเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW) ดัชนีตลาดบ้าน ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ และการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ วันแรก
วันพุธ: ยอดขอสร้างบ้านใหม่สหรัฐฯ และการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ วันสุดท้าย
วันพฤหัส: ยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน ผลสำรวจดัชนีภาคอุตสาหกรรมของธนาคารกลางฟิลาเดลเฟีย ยอดขายบ้านมือสองสหรัฐฯ
วันศุกร์: ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหภาพยุโรป สหรัฐฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
- ติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 17 - 18 ก.ย. นี้ ว่าทางธนาคารฯ จะประกาศลดวงเงินช่วยเหลือของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) หรือไม่ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าหากมีการลด QE ในตอนนี้ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้
-จับตาว่าการเจรจาทางการฑูตของสหรัฐฯ และซีเรียจะปฏิบัติตามต่อข้อเสนอของรัสเซียที่จะยอมมอบอาวุธเคมีให้องค์กรนานาชาติควบคุมดูแลหรือไม่ อย่างไรก็ดี หากการเจรจาทางการฑูตไม่สำเร็จ สหรัฐฯ ก็จะนำวิธีการแทรกแซงทางทหารกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง
- จับตาการส่งออกน้ำมันของลิเบียว่าจะกลับมาอยู่ในระดับเดิมได้หรือไม่ หลังล่าสุดทางการลิเบียพยายามเข้าหารือกับตัวแทนของกลุ่มผุ้ประท้วงแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมา
- ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี ของอิหร่านจะเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ในวันที่ 17 ก.ย. นี้ และคาดว่าจะนำเรื่องโครงการพัฒนานิวเคลียร์กลับมาหารือกับชาติตะวันตกอีกครั้ง
- การปิดซ่อมบำรุงท่าเรือส่งออกของอิรักในเดือน ก.ย. ที่ทำให้การส่งออกลดลง 300,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อุปทานน้ำมันดิบในภูมิภาคตึงตัวขึ้น อย่างไรก็ดี การผลิตน้ำมันดิบจากบริเวณทะเลเหนือคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.84 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ต.ค. จาก 1.7 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ย.
ข่าวเด่น