จากกรณีที่มีข่าวปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ว่า มีพนักงานที่ตึกซีพีทาวเวอร์ กทม. ป่วยเป็นไข้หวัดนกนั้น ในวันนี้ (20 กันยายน 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ระหว่างการประชุม รัฐมนตรีสาธารณสุข ที่เมืองมัณฑะเลย์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวพบว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
พนักงานไม่ได้ลาป่วยมากกว่าปกติ คนที่ลาป่วยเป็นเพียงไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 ร่วมกับสำนักอนามัย กทม. ไปสอบสวนโรคไม่พบว่าการป่วยนั้นมีอาการเข้าได้กับไข้หวัดนกแต่อย่างใด จึงเป็นเพียงข่าวลือ ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวล เพราะเรื่องไข้หวัดนก อยู่ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มีระบบการเฝ้าระวังทั้งในสัตว์ปีกและในคน อย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง แม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนกมาตั้งแต่ปี 2549 ก็ตาม
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า จากการเฝ้าระวังเครือข่ายงานสัตว์ปีกของกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ไม่พบข้อมูลไข้หวัดนกในสัตว์ปีกธรรมชาติ และในสัตว์เลี้ยงซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมปศุสัตว์ ขอให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้เลี้ยงสัตว์ปีก สังเกตอาการของสัตว์ หากพบว่าผิดปกติ เช่นป่วยตายไม่ทราบสาเหตุ ขอให้แจ้งปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุข หรือผู้นำชุมชน ไม่นำสัตว์ปีกป่วยตายมาชำแหละประกอบอาหาร จำหน่าย และให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยตาย และยึดหลักกินร้อน ใช้ช้อนกลาง และหมั่นล้างมือบ่อยๆ
ด้านนายแพทย์ทรงยศ ชัยชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบการเฝ้าระวังโรคของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะมีทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว หรือเอสอาร์อาร์ที ลงไปควบคุมโรคทันที หากมีผู้ป่วยสงสัยป่วยเป็นไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 หรือเอช 5 เอ็น 7 และมีระบบการเฝ้าระวังครอบคลุมถึงระดับตำบล รายงานเมื่อพบสัตว์ปีก นกหรือไก่ตายผิดปกติ มายังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อประสานไปยังกระทรวงเกษตรฯ ตรวจสอบว่าเป็นไข้หวัดนกในสัตว์ปีกหรือไม่ ซึ่งในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาไม่มีรายงานสัตว์ปีกตายผิดปกติแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพโดย รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย หากมีอาการไอหรือจาม ให้ใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูก ผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัยหากสงสัยป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้สูง 2 วันแล้วยังไม่ดีขึ้น ไอมาก เจ็บหน้าอก หายใจเหนื่อย หอบ อ่อนเพลียมาก หรือในเด็กที่มีไข้สูง ร้องกวนมาก กินนม กินอาหารไม่ได้ อาเจียน ท้องเสีย ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่ง มียาโอเซลทามิเวียร์รักษาไข้หวัดใหญ่ได้ นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอด หอบหืด โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน โรคเลือด ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไปรับบริการฉีดวัคซีนได้ที่สถานบริการสาธารณสุขในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน
ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมันว่าไม่มีผู้ป่วยไข้หวัดนก มีผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ เพียง 1 ราย เป็นชายอายุ 30 ปี มีอาการปวดศีรษะ เป็นไข้ไปตรวจที่ห้องพยาบาล และได้มีการทำความสะอาดห้องพยาบาลหลังพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เพื่อป้องกันโรคติดต่อต่างๆ ตามมาตรฐานปกติ อาจทำให้คนที่พบเห็นเข้าใจผิด และมีการส่งต่อทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค คนไข้รายนี้ตรวจสายพันธุ์แล้วยืนยันไม่ใช่หวัดนกและขณะนี้อาการดีขึ้นแล้ว ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ของสำนักระบาดวิทยาในปี 2556 นี้ตั้งแต่วันที่ 1มกราคม - 10 กันยายนพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จำนวน 29,824ราย ในจำนวนนี้ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 จำนวน 222ราย ชนิดเอที่ไม่ได้ตรวจระบุสายพันธุ์ 2,275รายชนิดบี 273รายชนิดเอ เอช 1 จำนวน 27 รายชนิดเอ เอช 3 จำนวน 10 ราย และไม่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ 26,517 รายซึ่งขณะนี้ไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 เป็นไข้หวัดตามฤดูกาลที่พบได้ทั่วไป
ข่าวเด่น