"อุปทานน้ำมันดิบไนจีเรียตึงตัวหนุนเบรนท์ ขณะที่ลิเบียเดินหน้าเพิ่มกำลังผลิต "
น้ำมันดิบส่วนเบรนท์ส่งมอบ พ.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 0.46 เหรียญฯ ปิดที่ 109.22 เหรียญฯ ขณะที่เวสต์เท็กซัสส่งมอบ ต.ค. (ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญา) ปรับลดลง 1.72 เหรียญฯ ปิดที่ 104.67 เหรียญฯ (ส่วนสัญญาเดือน พ.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 1.11 เหรียญฯ ปิดที่ 104.81 เหรียญฯ)
+ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ได้รับแรงหนุนจากข้อมูลคาดการณ์เบื้องต้นว่าปริมาณส่งออกน้ำมันดิบจากไนจีเรียมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในเดือนพ.ย. กดดันจากปัญหาการลักลอบขโมยน้ำมันดิบรวมทั้งความไม่สงบต่างๆ โดยในเดือนต.ค. คาดว่าไนจีเรียจะส่งออกน้ำมันดิบประมาณ 1.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน น้อยกว่าระดับปกติที่ควรส่งออกได้หากไม่เกิดปัญหาต่างๆที่ประมาณกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยราคาน้ำมันดิบไนจีเรียใช้ราคาที่อ้างอิงราคาน้ำมันดิบเบรนท์
- อย่างไรก็ดี สถานการณ์ความตึงเครียดในซีเรียที่ลดลงหลังสหรัฐฯและรัสเซียสามารถบรรลุข้อตกลงในการใช้วิธีทางการฑูตในการควบคุมและแก้ปัญหาอาวุธเคมีในซีเรีย รวมทั้งปริมาณปริมาณน้ำมันดิบในลิเบียที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังรัฐบาลสามารถซ่อมท่อส่งน้ำมันดิบทางฝั่งตะวันตกของประเทศแล้วเสร็จเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ล่าสุดปริมาณผลิตน้ำมันดิบในลิเบียปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 620,000 บาร์เรลต่อวัน
- นอกจากนี้ท่าทีที่ประนีประนอมมากขึ้นของประธานาธิบดีอิหร่านต่อกรณีการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์กับชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯเป็นอีกปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบ โดยล่าสุดคาดว่าผู้นำอิหร่านกับสหรัฐฯจะมีการหารือกันในประเด็นดังกล่าวในที่ประชุมสหประชาชาติสัปดาห์นี้
- ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากความเห็นของผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯสาขาเซนต์ หลุยส์ว่ามีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะพิจารณาชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) ในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนต.ค. หลังตัดสินใจคงมาตรการดังกล่าวต่อไปในการประชุมครั้งล่าสุด นอกจากนี้ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯสาขาแคนซัส ออกมาให้สัมภาษณ์ว่ารู้สึกผิดหวังที่ที่ประชุมมีมติคงมาตรการ QE ไว้เท่าเดิมแทนที่จะทยอยปรับลดลง
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานส่วนเกินภายในภูมิภาคเริ่มมีแนวโน้มปรับลดลง อย่างไรก็ดีความต้องการนำเข้าจากอินโดนีเซียยังคงชะลอตัวส่งผลให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงกดดันจากปริมาณส่งออกจากอินเดียที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งตลาดคาดการณ์ว่าปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซลจากจีนในช่วงไตรมาส 4 จะเพิ่มมากขึ้นหลังรัฐบาลจีนอนุมติโควต้าส่งออกใหม่ อย่างไรก็ดีความต้องการนำเข้าจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียบางส่วนช่วงหนุนราคาไม่ให้ปรับลดลงมากนัก
ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง
ไทยออยล์คาดว่าราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวอยู่ที่กรอบ 102-108 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล สำหรับน้ำมันเวสต์เท็กซัส ขณะที่เบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 106-112 เหรียญฯ จับตาการเลือกตั้งของเยอรมนีที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของภาวะหนี้ในยุโรปว่าจะดำเนินไปทางใด รวมถึงติดตามดัชนีภาคการผลิตสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และจีนที่จะประกาศในวันนี้
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่
วันจันทร์: ดัชนีภาคการผลิตสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และจีน รวมไปถึงดัชนีภาคการบริการสหภาพยุโรปและเยอรมนี
วันอังคาร: ดัชนีราคาบ้าน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ
วันพุธ: ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และยอดขายบ้านใหม่สหรัฐฯ
วันพฤหัส: ยอดขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน ยอดสัญญาซื้อขายบ้านรอปิดการขาย และจีดีพีไตรมาส 2/2556 สหรัฐฯ
วันศุกร์: -
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
- จับตาผลการเลือกตั้งเยอรมนีที่จะมีขึ้น ณ วันที่ 22 กันยายนนี้ เนื่องจากเยอรมนีเปรียบเสมือนผู้นำสหภาพยุโรป ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญต่อยโยบายต่างๆของสหภาพยุโรป
- การตอบรับของตลาดต่อการตัดสินใจคงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ(QE)ของสหรัฐฯโดยจะยังคงการซื้อคืนพันธบัตรจำนวน 8.5หมื่นล้านดอลลาร์ต่อไป
- ติดตามปริมาณกำลังการผลิตน้ำมันดิบจากลิเบีย ภายหลังท่อส่งน้ำมันดิบทางตะวันตกสามารถกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง ส่งผลให้กำลังการผลิตรวมของลิเบียกลับมาอยู่ที่ราว 0.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ความคืบหน้ากรณีการใช้อาวุธเคมีในซีเรีย โดยล่าสุด 5 ชาติสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติร่วมร่างมติการทำลายคลังอาวุธเคมีในซีเรีย นอกจากนี้ยูเอ็นอาจมีการเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุอีกครั้งเพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติม
ข่าวเด่น