น้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบ พ.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 0.89 เหรียญฯ ปิดที่ 109.21 เหรียญฯ ขณะที่เวสต์เท็กซัสส่งมอบ พ.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 0.37 เหรียญฯ ปิดที่ 103.03 เหรียญฯ + ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานประมาณการครั้งสุดท้าย (ครั้งที่ 3) ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 2/2556 โดยระบุว่าจีดีพีในไตรมาส 2 คาดว่าจะยังคงขยายตัวที่ระดับ 2.5% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า แต่ปรับสูงขึ้นจากระดับจีดีพีในไตรมาสแรกที่มีการขยายตัวเพียง 1.1% + ขณะที่ยอดขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานสหรัฐฯ ในรอบสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ก.ย. 56 ปรับตัวลดลง 5,000 ราย มาอยู่ที่ระดับ 305,000 ราย สวนทางกับการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 315,000 ราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานของสหรัฐฯ เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว อันส่งผลให้ตลาดมีการคาดการณ์ว่าตัวเลขดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เฟดตัดสินใจลดขนาดมาตรการ QE ในการประชุมครั้งต่อไป - อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากความกังวลในประเด็นปัญหาหนี้สินของรัฐบาลสหรัฐฯ หลังจากนายแจ็ค ลิว รัฐมนตรีการคลังสหรัฐฯ ได้ออกมาให้สัญญาณชี้เตือนว่า หนี้สินของรัฐบาลกลางสหรัฐฯจะพุ่งแตะเพดานสูงสุดที่ 16.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในวันที่ 17 ต.ค. 56 นี้ ซึ่งอาจจำเป็นต้องมีการพิจารณาปรับเพิ่มเพดานหนี้ภายในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ - อย่างไรก็ตาม สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นในกรอบที่จำกัด เนื่องจากความตึงเครียดเกี่ยวกับสถานการณ์อิหร่านเริ่มคลี่คลายลง ภายหลังจากนายจอห์น แฮนรี่ เผยผลการการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี แห่งอิหร่าน และ กลุ่ม 6 ประเทศมหาอำนาจ ว่าอิหร่านมีความพยายามที่จะบรรลุข้อตกลงในเรื่องโครงการอาวุธนิวเคลียร์ ภายใน 3-6 เดือนข้างหน้า นอกจากนั้นผู้นำ อิร่านยังแสดงเจตนารมณ์ที่ต้องการร่วมเจรจากับสมาชิกคณะรัฐมนตรีความมั่นคงถาวร 5 ชาติ และเยอรมันนี (กลุ่ม P5+1) ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากการมีการคาดการณ์ว่า อุปสงค์ในตลาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงใตรมาส 4 ของปี โดยล่าสุดมีสัญญาณความต้องการน้ำมันเบนซินจากอินเดีย ในช่วงเดือน ต.ค. และความต้องการจากปากีสถานในช่วงเดือน ต.ค. 56-ม.ค. 57 ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงน้อยกว่าน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากสภาวะอุปทานตึงตัวจากการลดกำลังการผลิตของโรงกลั่นในภูมิภาคและการปรับตัวลดลงของน้ำมันดีเซลคงคลัง นอกจากนั้นยังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่เพิมขึ้นจากแอฟริกา ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง ไทยออยล์คาดว่าราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่กรอบ 102-108 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล สำหรับน้ำมันเวสต์เท็กซัส ขณะที่เบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 106-112 เหรียญฯ จับตามองแนวทางการแก้ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่จะมีกำหนดเส้นตายภายในวันที่ 17 ต.ค.นี้ และ ติดตามดัชนีราคาผู้บริโภคสหภาพยุโรป และดัชนีราคาผู้ผลิตจีน ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์หน้า ได้แก่ วันจันทร์: ดัชนีราคาผู้บริโภคสหภาพยุโรป และดัชนีราคาผู้ผลิตจีน วันอังคาร: ดัชนีภาคการผลิต และการใช้จ่ายภาคการก่อสร้างสหรัฐฯ รวมถึงดัชนีภาคการผลิตสหภาพยุโรปและอังกฤษ อีกทั้งอัตราว่างงานสหภาพยุโรปและเยอรมัน วันพุธ: การจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้ผลิตและรายงานการประชุมธนาคารกลางยุโรป รวมไปถึงดัชนีภาคการบริการจีน วันพฤหัส: ดัชนีภาคการบริการ ยอดคำสั่งซื้อโรงงาน และยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานสหรัฐฯ รวมไปถึงดัชนีภาคบริการและยอดค้าปลีกสหภาพยุโรป วันศุกร์: การจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราว่างงานสหรัฐฯ ปัจจัยที่น่าจับตามอง - ติดตามการแก้ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่จะมีกำหนดเส้นตายภายในวันที่ 17 ต.ค.นี้ โดยหากสหรัฐฯยังไม่สามารถดำเนินมาตรการพิเศษใดๆ อาจส่งผลให้สหรัฐฯต้องผิดนัดชำระหนี้ที่จะครบกำหนด - สภาวะทางการคลังและการเงินของสหภาพยุโรปที่ยังคงน่าเป็นห่วง ภายหลังกรีซมีท่าทีว่าอาจต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเป็นรอบที่ 3 นอกจากนี้ฝรั่งเศสเองได้มีการประกาศปรับลดงบประมาณประจำปี 2557 เนื่องจากหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้น - การประชุมธนาคารกลางสหภาพยุโรป ที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 ตุลาคมนี้ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ว่าจะมีมุมมองต่อเศรษฐกิจ และนโยบายทางเศรษฐกิจสหภาพยุโรปอย่างไร เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกหลายประเทศยังน่าเป็นห่วง - จับตาอุปทานน้ำมันดิบของลิเบียและอิรัก ว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นได้ตามคาดการณ์หรือไม่ ภายหลังสถานการณ์ความตึงเครียดภายในลิเบียคลี่คลายลงได้บ้าง รวมไปถึงอิรักเองที่สามารถซ่อมท่อขนส่งน้ำมันได้
ข่าวเด่น