อิทธิพลพายุดีเปรสชั่น ส่งผลให้เขื่อนสิรินธร มีปริมาณน้ำในอ่างเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 90 ของความจุ กฟผ. ดำเนินการควบคุมระดับน้ำในเขื่อนและการระบายน้ำให้เหมาะสม เตรียมสำรองช่องว่างสำหรับรับน้ำเพิ่มจากพายุดีเปรสชั่นที่กำลังก่อตัว และเคลื่อนสู่ประเทศไทยในอีกไม่ช้า
นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นที่เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม แล้วเคลื่อนผ่านประเทศลาวเข้าสู่ประเทศไทยที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง มีฝนตกชุกหนาแน่น ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน กฟผ. หลายแห่งเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขื่อนสิรินธร ได้รับผลกระทบโดยตรง มีฝนตกหนักในพื้นที่ด้านเหนือเขื่อน ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนในปริมาณมากติดต่อกันหลายวัน รวมปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นตั้งแต่วันที่ 16-21 กันยายน 2556 รวม 567 ล้าน ลบ.ม. ระดับน้ำในเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเหลือความจุรองรับน้ำได้อีกไม่มาก จำเป็นต้องระบายน้ำเพิ่มผ่านประตูระบายน้ำล้น (Spillway) ซึ่งการดำเนินการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำล้น กฟผ. ได้แจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี อำเภอ และผู้นำชุมชนด้านท้ายเขื่อน ตลอดจนส่งเจ้าหน้าที่ออกสำรวจพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนและแจ้งเตือนก่อนเริ่มเปิดบานประตูระบายน้ำล้น
ทั้งนี้ เขื่อนสิรินธร เริ่มเปิดบานประตูระบายน้ำล้น เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2556 เวลา 10.29 น. ซึ่งขณะนั้นมีปริมาณน้ำในเขื่อนร้อยละ 93 มีช่องว่างในอ่างฯ เพียง 130 ล้าน ลบ.ม. หรือ 46 ซ.ม. กฟผ. จึงขยับบานประตูขึ้นทีละน้อย ซึ่งจากการติดตามระดับน้ำในอ่างฯ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงยังคงการเปิดบานประประตูระบายน้ำล้นเพื่อรักษาระดับน้ำในอ่างฯ ให้เป็นไปตามระดับน้ำควบคุม (Upper Rule Curve) ทั้งนี้ กฟผ. จำเป็นต้องสำรองช่องว่างในอ่างฯ สำหรับรับน้ำจากพายุดีเปรสชั่นที่กำลังก่อตัวในทะเล ซึ่งอาจมีทิศทางการเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศไทยเหมือนลูกที่ผ่านมาได้
ปัจจุบัน (25 กันยายน 2556 เวลา 24.00 น.) เขื่อนสิรินธร มีปริมาตรน้ำ 1,723 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 88 มีช่องว่างสามารถรองรับน้ำได้อีก 244 ล้าน ลบ.ม. สำหรับเขื่อนอื่นๆ ที่ได้รับอิทธิพล และมีปริมาณน้ำในอ่างฯ เพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 80 ของความจุ คือ เขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ ร้อยละ 83 ของความจุ แต่ยังมีความจุรองรับน้ำได้อีกเกือบ 3,000 ล้าน ลบ.ม. จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง ด้านเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 55 ของความจุ และมีระดับน้ำในอ่างฯ สูงกว่าระดับน้ำควบคุม (Upper Rule Curve) กำลังปรับเพิ่มการระบายน้ำจากวันละ 3 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันละ 10 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเตรียมรับสถานการณ์พายุดีเปรสชั่นที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเขื่อนอุบลรัตน์ได้ ส่วนเขื่อนอื่น ๆ สถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กฟผ. กล่าวในที่สุด
ข่าวเด่น