นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยถึง การเตรียมความพร้อมโครงการรับจำนำข้าวปี 56/57 รอบแรก (ข้าวนาปี) ที่จะเริ่มรับจำนำวันที่ 1 ต.ค.นี้ ว่า เจ้าหน้าที่ อคส.มีความพร้อมในการรับจำนำแล้ว โดยจะสามารถเปิดจุดรับจำนำได้กว่า 500 แห่ง ใน 60 จังหวัดทั่วประเทศ ส่วนโรงสีที่เข้าร่วมโครงการ ในเบื้องต้นที่มีความพร้อมรับจำนำได้ทันทีมีกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ คาดว่าน่าจะเข้าร่วมโครงการได้ไม่น้อยกว่าโครงการปีก่อน ที่มีประมาณ 590 แห่ง
นอกจากนี้ จะนำระบบเซมิ ออนไลน์ มาใช้ในการออกใบประทวนและติดตามข้อมูลการรับจำนำ ซึ่งจะรายงานผลได้ใกล้เคียงปัจจุบันมากที่สุด และจะช่วยป้องกันการสวมสิทธิ์ด้วย โดยหากชาวนาที่นำข้าวมาจำนำ มีใบรับรองการขึ้นทะเบียนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว ก็สามารถออกใบประทวนให้ได้ทันที ส่วนการเปิดจุดรับจำนำนอกพื้นที่ต้องรอการอนุมัติจากคณะอนุกรรมการข้าวระดับจังหวัดก่อน
ส่วนกรณีน้ำท่วมพื้นที่ปลูกข้าวในหลายจังหวัด โดยเฉพาะ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี, อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา และ จ.ศรีสะเกษ นั้น เมื่อเกษตรกรนำข้าวมาเข้าโครงการ และโรงสีสีแปรสภาพข้าวสารเป็นข้าวเปลือกแล้ว จะสั่งการให้นำข้าวไปส่งที่โกดัง หรือคลังสินค้ากลางที่ปลอดภัยจากน้ำท่วม เพื่อป้องกันความเสียหายของข้าวหลวง แต่จะส่งที่ใด ต้องให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำเป็นผู้พิจารณา แต่เบื้องต้นน่าจะส่งเข้าโกดังที่อยู่จังหวัดใกล้เคียง
คาดว่าตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีปริมาณข้าวเข้าสู่โครงการฯ ประมาณ 5 ล้านตัน ซึ่ง อคส. มีโกดังกลางกว่า 370 แห่ง ใน 48 จังหวัด ที่มีบางคลังที่ว่างพร้อมรองรับข้าวที่จะเข้าสู่โครงการฯ และมีโกดังของเอกชนที่กำลังก่อสร้างอีกหลายแห่ง รวมทั้งมีการจำกัดวงเงินต่อครัวเรือนเหลือเพียง 350,000 บาท จึงมั่นใจว่าจะเพียงพอในการรองรับปริมาณข้าวในรอบนี้ ส่วนโรงสีที่ค้างส่งมอบข้าวยังมีอยู่กว่า 100 แห่ง ปริมาณข้าวรวมกว่า 400,000 ตัน คาดว่าจะส่งมอบแล้วเสร็จในสัปดาห์นี้ ซึ่งหากส่งมอบครบแล้วสามารถเข้าร่วมโครงการรับจำนำรอบใหม่ได้
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมมาตรการป้องกันสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะเหตุอุทกภัยที่รุนแรงในขณะนี้ โดยได้สั่งการให้หัวหน้าคลังประสานผู้ว่าราชการจังหวัดติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ดูว่ามีโกดังกลางใดที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะที่ปราจีนบุรีและปักธงชัย
ส่วนในพื้นที่ภาคอีสานให้หาโกดังกลางที่อยู่ในพื้นที่ดอน เพื่อป้องกันความเสียหาย และหากพื้นที่ใดมีความเสี่ยงจากเหตุอุทกภัย ก็ให้โรงสีสีแปรสภาพ แล้วส่งเข้าโกดังกลางที่ไม่ถูกน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ในพื้นที่จังหวัดเดียวกัน และยังได้กำหนดเงื่อนไขให้โรงสีทำประกันภัยกับบริษัทประกัน 8 แห่งที่ขึ้นทะเบียนกับ อคส.เท่านั้น เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องระยะเวลาและเงื่อนไขความคุ้มครอง
ข่าวเด่น