|
|
|
|
|
|
น้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบ พ.ย. ปรับลดลง 0.26 เหรียญฯ ปิดที่ 108.37 เหรียญฯ ขณะที่เวสต์เท็กซัสส่งมอบ พ.ย. ปรับลดลง 0.54 เหรียญฯ ปิดที่ 102.33 เหรียญฯ
- ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากวิกฤติงบประมาณสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลให้หน่วยงานราชการต้องหยุดดำเนินการช่วงคราว หากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันไม่สามารถตกลงผ่านร่างกฎหมายงบประมาณฉุกเฉินได้ภายในเที่ยงคืนของวันที่ 30 ก.ย. โดยล่าสุดวุฒิสภาพรรคเดโมแครตได้ลงมติไม่เห็นชอบกฎหมายงบประมาณฉุกเฉินซึ่งสภาผู้แทนราษฎรฯได้อนุมัติไปก่อนหน้า โดยกฎหมายดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเลื่อนกฎหมายประกันสุขภาพของประธานาธิบดีสหรัฐฯออกไป 1 ปี เพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือชั่วคราว อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลสหรัฐฯจำเป็นต้องปิดหน่วยงานราชการลงจะเป็นผลให้มีข้าราชการตกงานกว่า 1 ล้านคน ซึ่งจะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงความต้องการใช้น้ำมัน
- การเจรจาโครงการนิวเคลียร์อิหร่านที่มีความคืบหน้ามากขึ้น โดยล่าสุดผู้นำสหรัฐฯและอิหร่านได้มีการพูดคุยกันเป็นครั้งแรก นอกจากนี้นาย อัสซัน โรฮานีจะเข้าหารือกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) และเยอรมนี (P5+1) ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 15 ต.ค. ณ กรุง เจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ อย่างไรก็ดีการเจรจาคาดว่าจะใช้เวลานานอย่างน้อย 6-12 เดือนกว่าจะลุล่วง
- ดัชนีราคาผู้บริโภคสหภาพยุโรปปรับเพิ่มขึ้น 1.1% ในเดือนก.ย. ลดลงจากการปรับเพิ่มขึ้น 1.3 % ในเดือนส.ค. ซึ่งถือว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์ของตลาด
+ กำลังการผลิตน้ำมันดิบจากกลุ่มประเทศ OPECในเดือนก.ย. ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี โดยกำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนก.ย.อยู่ที่ 30.07 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเฉลี่ย 30.32 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงท่าขนส่งน้ำมันและปัญหาท่อขนส่งน้ำมันรั่วในประเทศอิรัก ถึงแม้ว่าซาอุดิอาระเบียจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นและกำลังการผลิตจากลิเบียกลับมาได้บางส่วน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังที่สิงคโปร์ที่อยู่ในระดับสูง ถึงแม้ว่าจะมีแรงซื้อเข้ามาจากประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นผลจากการปิดซ่อมบำรุงทั้งตามกำหนดการและกระทันหัน
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงน้อยกว่าน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์จากอินโดนีเซียในช่วงก่อนฮัจย์ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีโอกาสในการเคลื่อนย้ายน้ำมันดิบไปยังฝั่งตะวันออก
ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง
ไทยออยล์คาดว่าราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวอยู่ที่กรอบ 102-108 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล สำหรับน้ำมันเวสต์เท็กซัส ขณะที่เบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 106-112 เหรียญฯ จับตามองแนวทางการแก้ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่จะมีกำหนดเส้นตายภายในวันที่ 17 ต.ค.นี้
และ ติดตามดัชนีภาคการผลิต และการใช้จ่ายภาคการก่อสร้างสหรัฐฯ รวมถึงดัชนีภาคการผลิตสหภาพยุโรปอีกทั้งอัตราว่างงานสหภาพยุโรป
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่
วันอังคาร: ดัชนีภาคการผลิต และการใช้จ่ายภาคการก่อสร้างสหรัฐฯ รวมถึงดัชนีภาคการผลิตสหภาพยุโรปและอังกฤษ อีกทั้งอัตราว่างงานสหภาพยุโรปและเยอรมัน
วันพุธ: การจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้ผลิตและรายงานการประชุมธนาคารกลางยุโรป รวมไปถึงดัชนีภาคการบริการจีน
วันพฤหัส: ดัชนีภาคการบริการ ยอดคำสั่งซื้อโรงงาน และยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานสหรัฐฯ รวมไปถึงดัชนีภาคบริการและยอดค้าปลีกสหภาพยุโรป
วันศุกร์: การจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราว่างงานสหรัฐฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
- ติดตามการแก้ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่จะมีกำหนดเส้นตายภายในวันที่ 17 ต.ค.นี้ โดยหากสหรัฐฯยังไม่สามารถดำเนินมาตรการพิเศษใดๆ อาจส่งผลให้สหรัฐฯต้องผิดนัดชำระหนี้ที่จะครบกำหนด
- สภาวะทางการคลังและการเงินของสหภาพยุโรปที่ยังคงน่าเป็นห่วง หลังกรีซมีท่าทีว่าอาจต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเป็นรอบที่ 3 ขณะที่การเจรจาเรื่องงบประมาณเพื่อจ่ายหนี้ของอิตาลีล้มเหลว นอกจากนี้ฝรั่งเศสเองได้มีการประกาศปรับลดงบประมาณประจำปี 2557 เนื่องจากหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้น
- การประชุมธนาคารกลางสหภาพยุโรป ที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 ตุลาคมนี้ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ว่าจะมีมุมมองต่อเศรษฐกิจ และนโยบายทางเศรษฐกิจสหภาพยุโรปอย่างไร เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกหลายประเทศยังน่าเป็นห่วง
- จับตาอุปทานน้ำมันดิบของลิเบียและอิรัก ว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นได้ตามคาดการณ์หรือไม่ ภายหลังสถานการณ์ความตึงเครียดภายในลิเบียคลี่คลายลงบ้าง รวมไปถึงอิรักเองที่สามารถซ่อมท่อขนส่งน้ำมันได้ |
บันทึกโดย : Adminวันที่ :
01 ต.ค. 2556 เวลา : 12:04:08
|
|
|
|
|
ข่าวเด่น