มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจปี 56 พบว่า ปีนี้ จะมีเม็ดเงินสะพัดในช่วงเทศกาลกินเจประมาณ 40,155 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% จากปี 56 ที่มีเม็ดเงินสะพัดอยู่ที่ประมาณ 37,700 ล้านบาท
“เงินใช้จ่ายรวมเทศกาลกินเจในปีนี้ ขยายตัวเพียง 6.3% มูลค่า 40,155 ล้านบาท ต่ำกว่าคาดการณ์ว่าน่าจะเกิน 8-10% ซึ่งเป็นการขยายตัวลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 และใกล้เคียงปี 2552"
ผลสำรวจระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 70.3% ระบุว่าไม่กินเจ โดยสาเหตุที่ตอบว่าไม่กินเจเพราะเศรษฐกิจไม่ดี, อาหารเจมีราคาแพง, และไม่มีเชื้อสายจีน เป็นต้น ขณะที่อีก 29.7% ระบุว่ากินเจ เพราะเป็นการกินเฉพาะเทศกาล, ตั้งใจจะทำบุญ และเพื่อลดการกินเนื้อสัตว์ เป็นต้น
ผลสำรวจพบว่า โดยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อคน 8,799 บาท เพิ่มขึ้น 66.7% ในจำนวนนี้ แยกเป็นการใช้จ่ายจากค่าอาหารต่อวัน 650 บาท เพิ่มขึ้น 64% จากปีก่อน ทำบุญ 2,077 บาท เพิ่มขึ้น 49.3% เดินทางไปทำบุญต่างจังหวัด 2,979 บาท เพิ่มขึ้น 51.5% ค่าที่พัก 3,996 บาท เพิ่ม 57.2%
ประชาชนที่ตอบว่ากินเจส่วนใหญ่ 80% ระบุว่าตั้งใจจะกินให้ครบทุกมื้อตลอดช่วงเทศกาล มีเพียง 20% ที่ระบุว่ากินเป็นบางมื้อ เพราะราคาอาหาร, ผัก-ผลไม้แพง, ค่าครองชีพสูง และไม่มีเวลาจัดหาอาหารเจ โดยประชาชนส่วนใหญ่ระบุว่าเป็นการไปซื้ออาหารเจสำเร็จรูปตามร้านค้า รองลงมา คือ ซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารเจกินเอง และไปบริโภคที่โรงเจ
ประชาชนที่ตอบแบบสอบถามยังต้องการให้รัฐบาลช่วยดูแลในช่วงเทศกาลกินเจ 1.ดูแลราคาอาหารเจปรุงสำเร็จ, ผัก-ผลไม้ ไม่ให้แพงเกินจริง 2.ดูแลเรื่องความสะอาดในการปรุงอาหาร 3.ดูแลและให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีในกรณีที่เกิดอัคคีภัย และ 4.ดูแลสอดส่องความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในช่วงดังกล่าว
ข่าวเด่น