ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สธ.ตั้งรพ.สนามที่ปราจีนบุรี 2 แห่ง เร่งอพยพ 6 กลุ่มเสี่ยงหนีน้ำ


กระทรวงสาธารณสุข จัดแผนรับมือน้ำท่วมที่จ.ปราจีนบุรี ตั้งโรงพยาบาลสนาม 2 จุด ที่อ.กบินทร์บุรี และอ.ศรีมหาโพธิ เพื่อกระจายบริการประชาชนเข้าถึงง่าย และเร่งให้ทีมแพทย์ อสม.อพยพ 6 กลุ่มเสี่ยงออกจากพื้นที่น้ำท่วม 6 อำเภอให้หมดภายใน 1-2 วันนี้ ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคลมชัก คนพิการหรือ อัมพาต รอบแรกนำออกจากพื้นที่แล้วเกือบ 10,000 ราย เพื่อความปลอดภัย แนะนำผู้ใช้เรือพกอุปกรณ์ชูชีพในเรือ หลังพบเรือล่มที่สระแก้วทุกวัน



 

นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)เปิดเผยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า ขณะนี้ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดที่ประสบภัย จัดส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกดูแลรักษาผู้เจ็บป่วย ป้องกันโรคติดต่อที่มากับน้ำท่วม และแจกยาชุดน้ำท่วมให้ผู้ประสบภัยไว้ใช้ดูแลสุขภาพเบื้องต้นหากเจ็บป่วยในระหว่างมีน้ำท่วมขัง โดยพบผู้ป่วยเฉลี่ยวันละ 3,400 ราย ส่วนใหญ่น้ำกัดเท้า และบางพื้นที่เริ่มพบโรคตาแดงบ้างประปราย ไม่มีปัญหาแพร่ระบาด ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการเล่นน้ำ   

สำหรับการรับมือที่จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งมีพื้นที่น้ำท่วมซ้ำ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมหาโพธิ อ.เมือง อ.ศรีมโหสถ อ.ประจันตคาม และอ.บ้านสร้าง กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดแผน 3 แผนรับมือ คือ1.ได้ระดมหน่วยแพทย์สนามจากจังหวัดชลบุรี จันทบุรี ระยอง มาช่วยจัดบริการรักษาพยาบาลที่จังหวัดปราจีนบุรี โดยได้ตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่ม 1 แห่งที่บริเวณสี่แยกอ.กบินทร์บุรี เนื่องจากประชาชนเดินทางไปโรงพยาบาลกบินทร์ยากลำบาก โดยมีแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลกบินทร์บุรี และชลบุรี รวม 15 คน  ให้บริการรักษาโรคทั่วๆไป ทำแผลตลอด 24 ชั่วโมง มีรถพยาบาลฉุกเฉินประจำการในการส่งต่อผู้ป่วย เริ่มให้บริการตั้งแต่วานนี้ มีผู้ป่วย 150 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัด น้ำกัดเท้า ส่วนโรงพยาบาลกบินทร์บุรี เปิดให้บริการปกติ และได้สำรองยาเวชภัณฑ์ใช้การได้ 2 เดือน โดยมีรถยกสูงของทหารคอยรับส่งผู้ป่วย วันนี้จะตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มอีก 1แห่ง ที่อ.ศรีมหาโพธิ โดยตั้งที่ตลาดท่าประชุม เป็นหน่วยแพทย์สนามจากโรงพยาบาลระยอง

2.ให้เร่งอพยพกลุ่มเสี่ยง 6 กลุ่มออกจากพื้นที่ประสบภัยและพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคลมชัก คนพิการหรืออัมพาต ให้หมดภายใน 1-2 วันนี้  เพื่อให้ปลอดภัยที่สุด เนื่องจากหากเจ็บป่วยช่วงกลางคืนจะมีความยากลำบากในการดูแล รอบแรกนำออกจากพื้นที่แล้วเกือบ 10,000 ราย ส่วนใหญ่จะอยู่บ้านญาติ ที่เหลืออยู่ในจุดอพยพและที่โรงพยาบาล และ3.ให้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในพื้นที่น้ำท่วมสัปดาห์ละ 1–3 ครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่น้ำลึกมากให้ออกหน่วยถี่ขึ้น และให้ส่งหน่วยเยี่ยมบ้านดูแลผู้ที่ยังอยู่ในบ้านที่น้ำท่วมอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำเรื่องอาหารกล่องให้ติดวันที่ผลิตและเวลาที่ควรบริโภค เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ

ทางด้านนายสรวงศ์  เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ในวันนี้ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบเวชภัณฑ์ยา ชุดยังชีพ แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ต.บ้านด่าน และต.ท่าข้าม อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้วซึ่งเป็นจุดที่น้ำท่วมขังสูงประมาณ 1 เมตร เรื่องที่น่าห่วงคือมีเรือล่มในพื้นที่ทุกวัน วันละประมาณ 2 ลำ เนื่องจากไม่คุ้นเคยในการใช้เรือ จึงขอให้ประชาชนพกอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ เช่น เสื้อชูชีพ ถัง/แกลลอนเปล่าที่มีฝาปิด เพื่อใช้พยุงตัว  ไม่ควรดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องจากหากตกน้ำจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้


LastUpdate 09/10/2556 14:48:44 โดย : Admin

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:03 am