ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะเคลื่อนไหวในกรอบ 108-114 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 100-106 เหรียญฯ” แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ( 14 - 18 ต.ค. 56) ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้คาดว่าจะถูกกดดันจากภาวะชะงักงันทางการเมือง เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯยังคงล้มเหลวในการเจรจางบประมาณฉุกเฉิน เพื่อยุติภาวะ Government Shutdown สร้างความกังวลต่อการเจรจาปรับเพดานหนี้ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 17 ต.ค นี้ ทั้งนี้จับตาผลการหารือระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯกับรัฐสภาถึงแนวทางการเลื่อนเส้นตายเพดานหนี้ชั่วคราวออกไปจาก 17 ต.ค. เป็น 22 พ.ย. รวมทั้งรายงานปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐฯที่ปรับตัวลดลงรวมกว่า 15 ล้านบาร์เรลใน 3 สัปดาห์ ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้: •ภาวะ Government Shutdown ที่ยังคงยืดเยื้อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 และสร้างความกังวลถึงภาวะชะงักงันทางการเมือง ซึ่งอาจนำไปสู่ความล้มเหลวในการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ ซึ่งจะมีกำหนดครบกำหนดชำระในวันที่ 17 ต.ค.นี้ ซึ่งหากการเจรจาปรับเพดานหนี้ไม่สำเร็จอาจส่งผลให้สหรัฐฯต้องผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และอาจนำไปสู่การใช้มาตรการรัดเข็มขัดอย่างสุดโต่ง ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯที่กำลังฟื้นตัว อย่างไรก็ดีล่าสุดมีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการเลื่อนเส้นตายเพดานหนี้สหรัฐฯออกไปชั่วคราวอีก 6 สัปดาห์ เพื่อให้รัฐบาลและรัฐสภาสหรัฐฯมีเวลาหารือมากขึ้นในการพิจารณาปรับเพิ่มเพดานหนี้รวมไปถึงงบประมาณประจำปี •ติดตามรายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ภายหลังจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 15 ล้านบาร์เรลในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากการลดกำลังการผลิตของโรงกลั่นในสหรัฐฯ โดยมีสาเหตุหลักมาจากค่าการกลั่นที่ปรับตัวลดลง •การหารือระดับสูงระหว่างทางการสหรัฐฯและอิหร่านต่อประเด็นโครงการนิวเคลียร์ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 ต.ค.นี้ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยมีนายจอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และนายโมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน พร้อมกับเจ้าหน้าที่ฑูตจากจีน รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี (P5+1) •จีดีพีไตรมาส3 ปี 2556 จีน ซึ่งจะประกาศในวันที่ 18 ต.ค.นี้ โดยตลาดคาดการณ์ว่าจีดีพีของจีนจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.8% จาก 7.5%ในไตรมาสก่อนหน้า อันเป็นผลมาจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีในช่วงก่อนหน้าโดยเฉพาะภาคส่งออกและการผลิต •ตัวเลขที่สำคัญในสัปดาห์นี้ได้แก่ ยอดขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน ยอดขอสร้างบ้านใหม่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและการผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตจีน รวมไปถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรม และดัชนีราคาผู้บริโภคสหภาพยุโรป สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (7 ก.ย. - 11 ต.ค. 56) ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 102.02 เหรียญฯ ขณะที่เบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.82 เหรียญฯ ปิดที่ 111.28 เหรียญฯ ส่วนดูไบปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เหรียญฯ มาอยู่ที่ประมาณ 108 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับแรงกดดันจากพายุ Karen ที่อ่อนตัวลงกลายเป็นพายุดีเปรสชัน คลายความกังวลต่อภาวะอุปทานตึงตัวที่อาจจะเกิดขึ้น และภาวะ Government Shutdown ที่ยังคงยืดเยื้อต่อกันเป็นสัปดาห์ที่สอง โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐฯกว่า 1 ล้านคนต้องหยุดทำงานชั่วคราวส่งผลกระทบต่อภาพเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ รวมไปถึงปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 เนื่องจากกำลังการกลั่นที่ลดลง อย่างไรก็ดี การบุกจับหนึ่งในหัวหน้าผู้ก่อการร้ายกลุ่มอัลกออิดะห์และสถานการณ์ความรุนแรงในอียิปต์ รวมทั้งความหวังของนักลงทุนถึงความเป็นไปได้ที่รัฐสภาสหรัฐฯจะสามารถบรรลุแนวทางในการเลื่อนเส้นตายเพดานหนี้ออกไปชั่วคราวยังคงเป็นปัจจัยพยุงราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวลดลงไม่มากนัก
ข่าวเด่น