สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลการสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากร ประจำเดือนกันยายน 2556 พบว่ามีจำนวนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 55.13 ล้านคน โดยเป็นผู้ที่อยูในช่วงกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมจะทำงาน 39.32 ล้านคน ประกอบไปด้วยผู้มีงานทำ 39 ล้านคน ผู้ว่างงาน 2.64 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาลทำงาน 6.5 หมื่นคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมจะทำงาน 15.81 ล้านคน ซึ่งในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็น แม่บ้าน นักเรียน คนชรา เป็นต้น
สำหรับผู้ที่งานทำจำนวน 39 ล้านคน ประกอบด้วยผู้ทำงานในภาคเกษตร 15.68 ล้านคน และนอกภาคเกษตรกรรม 23.32 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ก.ย.2555 พบว่า จำนวนผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมลดลง 1 หมื่นคน และนอกภาคเกษตรกรรมลดลง 1.4 แสนคน โดยลดลงในสาขาด้านกิจกรรมการบริหารราชการ การป้องกันประเทศ 2 แสนคน สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารจำนวน 1.6 แสนคน สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 8 หมื่นคน สาขาก่อสร้าง 6 หมื่นคน สาขาที่เพิ่มขึ้นคือสาขาชายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์ 1 แสนคน เป็นต้น
เมื่อพิจารณาอัตราว่างงานตามระดับการศึกษาปรากฎว่าผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากที่สุด 1.04 แสนคน หรือประมาณ 1.5% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกับของปีก่อน 4.6 หมื่นคน รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 5.9 หมื่นคน หรือประมาณ 1% และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 5.1 หมื่นคน ขณะที่ผู้จบการศึกษาระดับประถมศึกษาว่างงานประมาณ 3.1 หมื่นคน
ส่วนเมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานเป็นรายภาคพบว่า การว่างงานใน กทม. ภาคกลาง และภาคใต้ มีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 0.8 % รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 0.6% และภาคเหนือ 0.3% เมื่อเปรียบเทียบอัตราการว่างงานกับเดือน ก.ย. 2555 จะเห็นได้ว่าอัตราการว่างงานทั่วประเทศเพิ่มขึ้น โดยการว่างงานในพื้นที่ กทม.เพิ่มขึ้นมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือตามลำดับ
รายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติยังระบุถึงจำนวนของผู้ที่ทำงานต่ำกว่าระดับ (Underemployment workers) หรือผู้ที่มีงานทำแต่ยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งหมายถึงคนกลุ่มที่ยังมีเวลาลำพร้อมที่จะทำงานได้อีกและต้องการทำงานเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง โดยปัจจุบันมีคนจำนวนนี้ประมาณ 2.85 แสนคน หรือประมาณ 0.7% ของจำนวนผู้ทำงานทั้งหมด
ข่าวเด่น