ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กสิกรไทยคาดที่ประชุมเฟดมีแนวโน้มคงมาตรการ QE


 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ผลการประชุมเฟด 29-30 ต.ค. 2556 ...มีแนวโน้มคงขนาดการซื้อสินทรัพย์ หรือQE หลังปัญหาด้านการคลังกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

 
ประเด็นสำคัญ
•คาดเฟดคงขนาดซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณที่ระดับ 85 พันล้านดอลลาร์ฯ/เดือนอย่างต่อเนื่องในการประชุมวันที่ 29-30 ตุลาคม  2556 นี้
•มีโอกาสมากขึ้นที่เฟดอาจจะเลื่อนการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ออกไปอีกสักระยะ เพื่อรอดูพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังการฟื้นตัวของตลาดแรงงานเริ่มแผ่วลง รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงด้านการคลังที่ยังคงมีอยู่
•อัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ กอปรกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงไม่แน่นอน น่าจะส่งผลให้เฟดมีช่องว่างเพียงพอที่จะคงขนาดการซื้อสินทรัพย์ที่ระดับปัจจุบันต่อได้อีกระยะ
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในการประชุม ณ วันที่ 29-30 ตุลาคม  2556 คาดว่า เฟดน่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและขนาดการซื้อสินทรัพย์ไว้ที่  85 พันล้านดอลลาร์ฯ/เดือน แม้ว่าในบันทึกการประชุมเฟดครั้งที่ผ่านมาในวันที่ 17-18 ก.ย. 2556 สะท้อนความเห็นของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ เกี่ยวกับจังหวะและโอกาสที่เฟดจะทำการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ลง หากพัฒนาการของเศรษฐกิจเป็นไปตามคาดการณ์ของเฟด อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยด้านการคลังสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้หน่วยงานของภาครัฐต้องปิดตัวลงเป็นเวลา 16 วัน รวมทั้ง แรงส่งของการฟื้นตัวของตลาดแรงงานที่เริ่มอ่อนแอลง น่าจะส่งผลให้เฟดคงขนาดการซื้อสินทรัพย์ในระดับปัจจุบันต่อเนื่องไปอีกระยะ ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ 
 
 
 
 
พัฒนาการตลาดแรงงานที่เริ่มแผ่วลง กอปรกับการที่สหรัฐฯ เผชิญกับการปิดตัวของหน่วยงานภาครัฐ อาจส่งผลให้เฟดเลื่อนจังหวะเวลาในการปรับลดขนาดมาตรการซื้อสินทรัพย์ออกไป
 
หากพิจาณาถึงพัฒนาการของการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา พบว่าการขยายตัวของการจ้างงานเริ่มชะลอลง จากระดับ 182,000 ตำแหน่ง/เดือน ในช่วงไตรมาส 2/2556 โดยเหลือเพียงระดับ 143,000 ตำแหน่ง/เดือน สำหรับค่าเฉลี่ย ในช่วงไตรมาสที่ 3/2556  ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป (Modest to Moderate Growth) ตามที่ได้ระบุไว้ในรายงานภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือ  Beige Book นอกจากนี้ ข้อพิพาททางการเมืองที่นำไปสู่วิกฤติด้านการคลังของสหรัฐฯ ส่งผลให้หน่วยงานของภาครัฐต้องปิดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี รวมทั้ง ผลของมาตรการ Obama Care ที่นายจ้างจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายด้านประกันสังคมเพิ่มเติม อาจจะส่งผลให้บริษัทต่างๆ มีการชะลอการลงทุนจ้างงานออกไปอีกระยะ เพื่อรอความชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ซึ่งหมายความว่า การทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติของตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาจจะต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นกว่าที่เคยคาดไว้ในช่วงที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ ปัญหาทางการคลังที่ยังคงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้าจากข้อพิพาททางการเมืองที่ยังไม่สามารถมีข้อสรุปอย่างชัดเจน รวมทั้ง แรงส่งของการฟื้นตัวของตลาดแรงงานที่แผ่วลง ก็อาจส่งผลให้เฟดไม่น่าจะเร่งจังหวะในการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ในช่วงที่เศรษฐกิจยังมีความสุ่มเสี่ยงอยู่ โดยมีโอกาสที่เฟดอาจเลื่อนการปรับลดขนาดสินทรัพย์ออกไป จากเดิมที่ตลาดคาดการณ์ว่ามีโอกาสเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ รวมถึงการที่เฟดน่าจะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษต่อเนื่อง จนกว่าพัฒนาการของเศรษฐกิจจะมีความแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพมากกว่านี้ 

 
แรงกดดันเงินเฟ้อที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ น่าจะช่วยให้เฟดสามารถที่จะคงขนาดการซื้อสินทรัพย์ที่ระดับ 85 พันล้านดอลลาร์ฯ/เดือน ได้อีกระยะ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว

นอกจากการขยายตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงานแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายของเฟดก็คือ เสถียรภาพทางด้านราคา ทั้งนี้ พิจารณาอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะพบว่าทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อเดือน ส.ค. 2557 อยู่ที่ 1.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) อยู่ที่ระดับ 1.2% ซึ่งต่ำกว่าระดับ 2.0% ที่เฟดมองว่าเป็นระดับที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจ ค่อนข้างมาก ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า น่าจะอยู่ในระดับต่ำ จากระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ค่อนข้างแผ่ว อันไม่น่าที่จะสร้างแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่มาจากอุปสงค์ (Demand-Pull Inflation) มากนัก ขณะที่ระดับราคาน้ำมันโลกก็อยู่ในระดับที่ค่อนข้างทรงตัว ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ของเงินเฟ้อที่ไม่น่าจะสร้างแรงกดดันต่อการดำเนินนโนยายการเงินในอนาคตอันใกล้ ก็น่าจะส่งผลให้เฟดยังคงสามารถที่จะคงขนาดการซื้อสินทรัพย์ที่ระดับ 85 พันล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือนได้อีกระยะ จนกว่าพัฒนาการทางเศรษฐกิจจะเริ่มมีพัฒนาการที่เด่นชัดขึ้น อย่างไรก็ตาม เฟดคงต้องติดตามประเด็นความเสี่ยงด้านราคาสินทรัพย์อย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษของเฟดนำมาสู่การก่อตัวของฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ และสร้างผลการะทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว

 
สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย แม้ว่าในช่วงสั้นอาจจะมีเงินทุนไหลกลับเข้ามาบางส่วน จากคาดการณ์ถึงการเลื่อนจังหวะการปรับลดสินทรัพย์ของเฟดออกไป แต่คงต้องยอมรับว่า ไทยคงหลีกเลี่ยงความผันผวนของการไหลออกของเงินทุนในระยะต่อไปได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อเฟดทำการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ในช่วงข้างหน้า
 
แม้ว่า คาดการณ์ถึงการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ของเฟดที่มีโอกาสเลื่อนจังหวะออกไปช้ากว่าที่ตลาดเคยคาดการณ์ อาจจะช่วยลดความผันผวนของกระแสเงินทุนไหลออกในระยะสั้น รวมทั้งอาจส่งผลให้มีกระแสเงินทุนบางส่วนไหลกลับประเทศไทย แต่คงต้องยอมรับว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจังหวะการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ก็จะยังเป็นปัจจัยกดดัน และคงทำให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จะต้องเผชิญกับความผันผวนของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายต่อไป นอกจากนี้ คาดว่าเมื่อเฟดได้เริ่มทำการปรับลดขนาดการซื้อพันธบัตรจริง ก็คงจะสร้างความผันผวนรอบใหญ่อีกครั้ง และคงส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี ทางการไทยมีเวลาการเตียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดมากขึ้น กอปรกับสถานะเสถียรภาพภายนอกประเทศของไทยที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ก็น่าจะช่วยป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจจริงของไทยได้ค่อนข้างมาก


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ต.ค. 2556 เวลา : 11:22:11

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:41 am