"น้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังดอลลาร์อ่อนค่าลง"
เวสต์เท็กซัสส่งมอบ ธ.ค.ปรับเพิ่มขึ้น 0.01 เหรียญฯ ปิดที่ 94.62เหรียญฯ ส่วนเบรนท์ส่งมอบ ธ.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 0.32 เหรียญฯ ปิดที่ 106.23 เหรียญฯ
+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยได้รับแรงหนุนจากค่าเงินสกุลดอลลาร์ที่อ่อนตัวลง อันเป็นผลมาจากยอดคำสั่งซื้อสินค้าโรงงานสหรัฐฯ ไม่รวมยอดคำสั่งซื้อเครื่องบิน ซึ่งจะแสดงถึงภาวะการลงทุนในสหรัฐฯ ปรับลดลง 1.3%ในเดือนก.ย.แย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ปรับลดลง 1.1% อันเป็นผลมาจากความกังวลต่อวิกฤติงบประมาณและปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯในเดือนดังกล่าว
+ ตัวเลขดัชนีภาคการผลิตสหภาพยุโรปปรับตัวดีขึ้นในเดือนต.ค.มาอยู่ที่ 51.3 จาก 51.1ในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นในเยอรมนี ไอร์แลนด์ และเสปน ในขณะที่ปรับตัวลดลงในฝรั่งเศสและกรีซ โดยไอร์แลนด์มีอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 30 เดือนมาอยู่ที่ 54.9 ส่วนดัชนีภาคการผลิตเยอรมนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 51.7 จาก 51.1 ในเดือนก่อนหน้า
+ นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบลิเบียที่ยังคงถูกจำกัด อยู่ที่ประมาณ 0.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยในเดือนต.ค.ลิเบียสามารถผลิตน้ำมันดิบได้เพียงประมาณ 0.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับกำลังการผลิตในช่วงต้นปีที่ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี ล่าสุดคาดว่าจะมีการส่งออกน้ำมันดิบจากลิเบียจากท่า Hariga ได้ภายในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานที่คาดว่าจะเข้ามาในตลาดมากขึ้น หลังจากสองโรงกลั่นหลักในไต้หวันได้กลับมาดำเนินการหน่วยผลิตน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ อันเป็นผลมาจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังในสิงคโปร์ที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมไปถึงอุปทานเพิ่มเติมจากไต้หวัน
ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวอยู่ที่กรอบ 93-100 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 104-110 เหรียญฯ จับตาทิศทางนโยบายทางการเงินของการประชุมธนาคารกลางสหภาพยุโรปในช่วงกลางสัปดาห์นี้ และติดตามยอดดัชนีภาคการบริการของจีน และสหรัฐฯ (ISM) สหรัฐฯ รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิตสหภาพยุโรป
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่
วันอังคาร: ดัชนีภาคการบริการของจีน และสหรัฐฯ (ISM) สหรัฐฯ รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิตสหภาพยุโรป
วันพุธ: ดัชนีภาคบริการ และยอดค้าปลีกสหภาพยุโรป รวมถึงดัชนีภาคการบริการ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเยอรมนี
วันพฤหัสบดี: ยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานสหรัฐฯ รวมไปถึงจีดีพีไตรมาส 3/56 สหรัฐฯ และการบริโภคภาคเอกชนจีน
วันศุกร์: ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐ ดุลการค้าจีนและสหภาพยุโรป
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
- จับตาปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากลิเบีย โดยล่าสุดท่าเรือขนส่งน้ำมันดิบ และหลุมน้ำมันดิบสำคัญของลิเบีย คาดว่าจะสามารถเริ่มกลับมาดำเนินการได้ภายในสัปดาห์นี้
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯซึ่งปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะเวลา 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา แตะระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี อันเป็นผลมาจากโรงกลั่นอยู่ในช่วงปิดซ่อมบำรุงก่อนเข้าฤดูหนาวและปริมาณการผลิตน้ำมันจากหินดินดาน (Tight Oil) ที่เพิ่มขึ้น
- ติดตามจีดีพีไตรมาส 3/2556 สหรัฐฯ ซึ่งจะประกาศวันที่ 7 พ.ย.นี้ ซึ่งถือว่าล่าช้าไป 8 วัน ภายหลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 3
- ผลการประชุมธนาคารกลางสหภาพยุโรป ในวันที่ 7 พ.ย. นี้ ว่าจะมีมุมมองต่อภาพรวม และนโยบายทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ย โดยล่าสุดธนาคารกลางยุโรปคงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงไว้ที่ระดับต่ำที่ 0.5 %
ข่าวเด่น