แถลงการณ์มหาวิทยาลัยมหิดลคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับที่ ๑
ตามที่สภาผู้แทนราษฎร ได้ผ่าน ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... โดยแก้ไขเพิ่มเติมความมาตรา ๓ ความบางส่วนว่า "..รวมถึงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลัง การรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ ก.ย. ๒๕๔๙ รวมถึงองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว สืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่างปี ๒๕๔๗ ถึงวันที่ ๘ ส.ค. ๒๕๕๖ ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวกลาง ผู้สนับสนุนผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากความผิด โดยสิ้นเชิง.." การบัญญัติดังกล่าวข้างต้นจะไม่เพียงแค่เป็นการยกเว้นความผิดและโทษ ให้แก่การกระทำทางการเมืองเท่านั้น แต่จะเป็นผลลบล้างคำพิพากษาของคดีทุจริตคอรัปชั่น และให้คดีที่เกี่ยวกับการกระทำ ในลักษณะดังกล่าวที่อยู่ระหว่างกระบวนการต้องยุติลงด้วย
มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม มีเนื้อหาที่เป็นการสร้างมาตรฐานที่ ไม่ถูกต้องขึ้นในสังคมไทย เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การทุจริตคอรัปชั่นมิใช่สิ่งร้ายแรง และสามารถหลุดพ้นจากความรับผิดได้ด้วยการนิรโทษกรรม ทั้งนี้จะทำให้การต่อต้านปัญหาคอรัปชั่นในสังคมไทย ไม่ประสบผลสำเร็จและจะสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้อง ให้กับการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น
มหาวิทยาลัยมหิดลมีพันธกิจที่สำคัญในการสร้างบัณฑิตไทยรุ่นใหม่ ให้มีความรู้ความสามารถทางวิชาชีพ ควบคู่กับการมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม โดยปลูกฝังค่านิยมของมหาวิทยาลัยให้แก่บัณฑิตที่จะออกไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น ร่างพระราชบัญญัตินี้ จึงขัดกับหลักธรรมาภิบาล ที่มหาวิทยาลัยมหิดลยึดเป็นหลักในการดำเนินงานและปลูกฝังค่านิยมต่อนักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีการศึกษานี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ประกาศให้เป็นปีแห่งการรณรงค์เพื่อความยึดมั่นความมั่นคงในคุณธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม และได้ร่วมจัดโครงการ “บัณฑิตไทย ไม่โกง” ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยด้วย
มหาวิทยาลัยมหิดลจึงขอคัดค้าน ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับนี้ และขอให้วุฒิสภาใช้วิจารณญาณในการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศชาติขณะนี้ โดยการไม่ผ่านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อเป็นการจรรโลงคุณธรรมและจริยธรรมของสังคมไทย และขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายใช้สติในการแก้ไขปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่โดยสันติวิธี อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยให้อิสระแก่นักศึกษา และบุคลากรในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย
มหาวิทยาลัยมหิดล
๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
ในวันเดียวกันนี้ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แถลงข่าวภายหลังจากการประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยมหิดล โดยเป็นการประชุมวาระพิเศษเพื่อหารือถึงการแสดงจุดยืนทางการเมือง เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในนามของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งที่ประชุมได้มีมติขอคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ และขอให้วุฒิสภาใช้วิจารณญาณ ในการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศชาติขณะนี้ โดยการไม่ผ่านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อเป็นการจรรโลงคุณธรรม และจริยธรรมของสังคมไทย และขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายใช้สติในการแก้ไขปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่โดยสันติวิธี อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยให้อิสระแก่นักศึกษา และบุคลากรในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงออกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย
ทั้งนี้ ในวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ มหาวิทยาลัยมหิดลจะจัดให้มีการแสดงพลังคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เวลา ๐๘.๓๐ น. ณ ศูนย์การเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะรัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล จะเดินนำขบวนผู้บริหาร คณาจารย์และนักศึกษา จากศูนย์การเรียนรู้มหิดล ไปยังประตู ๖ ผ่านตลาดศาลายา และเข้าทางประตู ๓ เดินกลับไปยังศูนย์การเรียนรู้มหิดล จากนั้น อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลจะกล่าวแถลงการณ์คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมยืนแสดงเจตนารมณ์ ๑ นาที หลังจากนั้น ผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษา จะร้องเพลงเทิดพระนามมหิดลโดยพร้อมเพรียงกัน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยในกลุ่มที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติเอกฉันท์ร่วมกันออกแถลงการณ์เพื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบให้นิรโทษกรรมแก่บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคล หรือ ประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิด โดยคณะบุคคล หรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.๒๕๔๗ - ๘ สิงหาคม ๒๕๕๖ ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ เพราะเป็นการสร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องขึ้นในสังคมไทย นั้น
ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เห็นว่าเนื้อหาดังกล่าวข้างต้น เท่ากับสร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องขึ้นในสังคมไทย เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การทุจริตคอร์รัปชั่น มิใช่สิ่งร้ายแรง และในท้ายที่สุดก็สามารถหลุดพ้นจากความรับผิดได้ด้วยการนิรโทษกรรม การรณรงค์ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังจะเห็นได้จากการจัดโครงการ "บัณฑิตไทยไม่โกง" มหาวิทยาลัยทุกแห่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตลอดปี ๒๕๕๖ การรณรงค์ดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้ดี ต่อเมื่อมีตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า คนที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชั่น จะต้องถูกลงโทษโดยไม่มีการนิรโทษกรรม คนที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชั่น ต้องถูกลงโทษโดยไม่มีการนิรโทษกรรม ซึ่ง ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แสดงจุดยืนของมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในแถลงการณ์ดังกล่าว พร้อมกับอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยในกลุ่ม ทปอ. รวม ๒๕ แห่ง เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา
ข่าวเด่น