ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ธปท.ชี้ต้องดูแลค่าบาทเพิ่มจากปัจจัยภายใน


 

 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ต้องเพิ่มความระมัดระวังจากปัจจัยภายใน  พร้อมดูแลการซื้อขายในตลาดการเงินใกล้ชิด ระบุทิศทางค่าเงินบาทเป็นธรรมดาที่ต้องอ่อนค่าหากสหรัฐ
ลดคิวอี  แนะให้ใช้ความระมัดระวังในการทำธุรกิจ     
 
นางจันทวรรณ  สุจริตกุล  ผู้ช่วยผู้ว่าการ  สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ในปัจจุบันถือเป็นปัจจัยภายในที่ ธปท. ต้องเพิ่มความระมัดระวัง โดยยืนยันว่าจะเข้าดูแลการซื้อขายในตลาดเงินอย่างใกล้ชิด  เพื่อไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ  ส่วนการอ่อนค่าของเงินบาทไทยช่วงที่ผ่านมา สาเหตุหลักยังคงเป็นผลจากปัจจัยภายนอก  โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีเกินคาด  ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น  ส่งผลให้ค่าเงินสกุลอื่นของประเทศคู่ค้า  รวมถึงค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าลงตามไปด้วย
 
ทั้งนี้  ต้องเรียนว่าในอดีตนั้น  ปัจจัยจากภายนอกจะเป็นสิ่งที่ชี้นำการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตลาดการเงิน  แต่ปัจจุบันมีปัจจัยภายในเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  ดังนั้น ในส่วนของ ธปท. ก็จะเข้าไปดูแลในตลาดให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น  เพื่อไม่ให้การเคลื่อนไหวของค่าเงินมีความผันผวน  หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจนเกินไปจนมีผลกระทบกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง  อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ธปท. เองก็เข้าไปดูแลบ้าง
 
                สำหรับทิศทางของค่าเงินในระยะต่อไปนั้น  หากดูตามพื้นฐานแล้วหากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ(คิวอี) ลง ก็คงทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น  จึงเป็นธรรมดาที่ค่าเงินสกุลอื่นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์  รวมถึงค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าตามลงไปด้วย เพียงแต่ภาพตรงนี้จะเกิดเร็วหรือช้ายังไม่สามารถตอบได้ เพราะมีหลายปัจจัยประกอบกัน
 
“จากความไม่แน่นอนเหล่านี้  จึงอยากเตือนให้ผู้เกี่ยวข้องใช้ความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ  แต่อย่างไรก็ตามช่วงหลายปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการในประเทศไทย มีความสามารถและปรับตัวรับมือกับความผันผวนเหล่านี้ได้ดี รวมทั้ง ธปท. เองก็ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อคอยให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ได้เข้าใจถึงวิธีการใช้เครื่องมือต่างๆ ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน”

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 พ.ย. 2556 เวลา : 13:02:16

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:36 am