"น้ำมันดิบลดหลังจากน้ำมันดิบคงคลังปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด"
เวสต์เท็กซัสส่งมอบ ม.ค. ปรับลดลง 0.41 เหรียญฯ ปิดที่ 93.68 เหรียญฯ และเบรนท์ส่งมอบ ม.ค. ปรับลดลง 0.12 เหรียญฯ ปิดที่ 110.88 เหรียญฯ
- ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง หลังจากสถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ณ วันที่ 22 พ.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 6.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 390.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เป็นอย่างมากที่ 600,000 บาร์เรล ส่วนปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับเพิ่มขึ้น 651,000 บาร์เรล ขณะที่ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังปรับเพิ่มขึ้น 201,000 บาร์เรล ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 300,000 บาร์เรล
+ ปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังปรับลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ไว้ที่ 1.1 ล้านบาร์เรล
- นักลงทุนยังคงรอข้อมูลที่จะประกาศออกมาเพื่อดูทีท่าว่าอิหร่านจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด หลังจากมีข้อสรุปที่ว่าข้อตกลงระหว่างอิหร่านและประเทศมหาอำนาจนั้น อิหร่านไม่สามารถนำน้ำมันออกขายสู่ตลาดได้ทันที
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เดือน พ.ย. ลดลงมาอยู่ที่ 70.4 เมื่อเทียบกับ ต.ค. ที่ระดับ 72.4 ซึ่งลดลงต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 3 เป็นการแสดงถึงว่าผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นที่น้อยลงในเรื่องของรายได้และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของตลาดแรงงาน
+ ตัวเลขใบขออนุญาติสร้างบ้านใหม่ของสหรัฐฯ เดือน ต.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 6.2% มาอยู่ที่ระดับ 1.034 ล้านใบ เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. ที่ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 5.2% และปรับเพิ่มขึ้น 13.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
+ ปัญหาความรุนแรงในลิเบียที่ยังคงยืดเยื้อ โดยล่าสุดลูกจ้างและพนักงานเอกชนออกมาประท้วงหยุดงานที่ท่าเรือของเมืองเบนกาซีเมื่อวานที่ผ่านมา โดยเป็นการประท้วงเรื่องความปลอดภัยหลังจากที่มีคนตายจากเหตุปะทะกันอย่างรุนแรงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ แต่อย่างไรก็ตามยังมีอุปสงค์จากอินโดนีเซีย และอุปทานที่น้อยลงเนื่องจากเกิดท่อระเบิดขึ้นที่โรงกลั่น Sinopec เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ แต่อย่างไรก็ตามอุปทานยังคงตึงตัวเนื่องจากมีโรงกลั่นปิดซ่อมบำรุงและลดกำลังการกลั่นลง
ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวอยู่ที่กรอบ 93-100 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 106 -112 เหรียญฯ ติดตามผลตอบรับของตลาดน้ำมันจากการที่ชาติตะวันตกสามารถบรรลุข้อตกลงประเด็นนิวเคลียร์อิหร่านได้เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน และความรู้สึกผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดัชนีชี้วัดภาคการผลิตของเมืองชิคาโก ที่จะประกาศในคืนนี้
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่
วันพุธ: ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน และความรู้สึกผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดัชนีชี้วัดภาคการผลิตของเมืองชิคาโก
วันพฤหัส: ตลาดสหรัฐฯ ปิดเนื่องในวันหยุดวันขอบคุณพระเจ้า
วันศุกร์: ตัวเลขการว่างงาน และความรู้สึกผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจสหภาพยุโรป
วันอาทิตย์: ดัชนีภาคการผลิตจีน (Official)
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง หลังโรงกลั่นหลายแห่งในสหรัฐฯ เสร็จสิ้นการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น เพื่อเตรียมเดินเครื่องผลิตน้ำมันเต็มที่เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง
- การกลับมาผลิตและส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียจะกลับมาได้มากและรวดเร็วเพียงใด หลังล่าสุดการประท้วงปิดท่าเรือที่ทำให้การส่งออกลดลงต่ำกว่าระดับ 80,000 บาร์เรลต่อวัน สิ้นสุดลงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
- ความไม่แน่นอนของแผนการลดทอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ (QE4) คาดว่าจะยังคงส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในระยะสั้น โดยตลาดยังคงเฝ้าจับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในเดือน ธ.ค.
ข่าวเด่น