" เบรนท์ทรุด เหตุตลาดกังวลภาวะเศรษฐกิจสหภาพยุโรป "
เบรนท์ส่งมอบ ม.ค. ปรับลดลง 1.16 เหรียญฯ ปิดที่ 109.69 เหรียญฯ ขณะที่เวสต์เท็กซัสเดือน ม.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 0.42 เหรียญฯ มาอยู่ที่ 92.72 เหรียญฯ
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง หลังบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน เอส แอนด์ พี ออกมาปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของเนเธอร์แลนด์ลงหนึ่งระดับจากระดับสูงสุดที่ AAA ทั้งนี้ เอส แอนด์พี มองว่าจีดีพีต่อประชากรของเนเธอร์แลนด์มีแนวโน้มอยู่ในต่ำ ส่งผลให้ล่าสุดมีเพียงเยอรมนี ลักเซมเบิร์ก และฟินแลนด์เท่านั้นที่ยังครองความเป็น AAA อยู่ได้
+ อย่างไรก็ดี S&P ได้ปรับเพิ่มความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจสเปนในอนาคตขึ้นจากมุมมองเชิงลบเป็นมุมมองคงที่ เพราะมองว่าเศรษฐกิจสเปนเริ่มฟื้นตัวและมีแผนการปฏิรูปงบประมาณรายจ่ายที่ดีขึ้น ขณะที่ มูดี้ส์ ก็ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซขึ้นมา 2 อันดับมาอยู่ที่ Caa3 เพราะเห็นว่ากรีซมีการจ่ายหนี้ได้ตามกำหนด
-/+ ตลาดมองว่าดัชนีราคาผู้บริโภคหรืออัตราเงินเฟ้อของสหภาพยุโรปที่ออกมาดีเกินคาด รวมถึง อัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปเดือน ต.ค. ที่ปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 2 ปี มาอยู่ที่ 12.1% จะชะลอการตัดสินใจในการใช้มาตรการผ่อนปรนทางการเงินของธนาคารกลางสหภาพยุโรปเพิ่มเติม โดยดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน พ.ย. เพิ่มขึ้น 0.9% อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวถือว่ายังอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายของที่ 2%
- สหรัฐฯ ยอมผ่อนผันให้ประเทศต่างๆ ซื้อน้ำมันดิบอิหร่านได้ต่อไปอีก 6 เดือน หลังอิหร่านยอมที่จะให้มีการตรวจสอบพื้นที่โครงการนิวเคลียร์ โดยประเทศที่ได้รับการผ่อนผัน ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ตุรกี ไต้หวัน มาเลเซีย แอฟริกาใต้ และศรีลังกา
+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสยังคงได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันดีเซลสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นหลังปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสหรัฐฯ ลดลงกะทันหัน รวมถึงปัญหาอุปทานน้ำมันตึงตัวในลิเบีย ยังคงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงไม่มากนัก
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังมีแรงเทขายในตลาดค่อนข้างมากในช่วงก่อนสิ้นปี ขณะที่ความต้องการใช้ในยุโรปที่ลดลงอาจส่งผลให้มีการส่งออกน้ำมันเบนซินมายังเอเซียเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีแรงซื้อเข้ามาในตลาดอยู่บ้างจากอินโดนีเซีย
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยราคาได้รับแรงหนุนจากการส่งออกที่ลดลงจากอินเดีย ที่โรงกลั่นหลายแห่งกำลังอยู่ในช่วงปิดซ่อมบำรุง ประกอบกับการส่งออกของจีนที่คาดว่าจะลดลงเนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศที่เพิ่มขึ้น
ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวอยู่ที่กรอบ 90-97 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 106 -112 เหรียญฯ ติดตามการประชุมกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันโอเปกในวันที่ 4 ธ.ค. และการประชุมธนาคารกลางยุโรปในวันที่ 5 ธ.ค. นี้ รวมถึงจับตาตัวเลขจีดีพีสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ ส่วนวันนี้ติดตามตัวเลขภาคการผลิตสหรัฐฯ และจีน
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่
วันจันทร์: ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน (HSBC)
วันอังคาร: -
วันพุธ: ดัชนีภาคการบริการสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน การจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ รวมไปถึงยอดค้าปลีกและจีดีพี 3/2556 (Revised) สหภาพยุโรป
วันพฤหัส: ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดสั่งซื้อสินค้าโรงงาน และจีดีพีไตรมาส 3/2556 (Prelim) ของสหรัฐฯ
วันศุกร์: ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
- การประชุมกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันโอเปกในวันที่ 4 ธ.ค. นี้ คาดว่าที่ประชุมจะมีการหารือถึงผลกระทบของปริมาณน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้ รวมถึงน้ำมันดิบของอิหร่านที่กำลังจะกลับมาในตลาดอีกครั้งหลังการเจรจานิวเคลียร์สิ้นสุดลง
- การประชุมธนาคารกลางยุโรปในวันที่ 5 ธ.ค. นี้ ว่าจะมีมุมมองต่อภาพรวมและนโยบายทางเศรษฐกิจยุโรปอย่างไร ภายหลังจากธนาคารกลางยุโรปตัดสินใจการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลงแตะระดับต่ำที่ 0.25%
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นลดลง หลังโรงกลั่นหลายแห่งเริ่มกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง รวมถึง ปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงมากกว่าคาดจนส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มสูงขึ้นมาก
- เหตุการณ์ความไม่สงบในลิเบียที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุดลง และทำให้การผลิตน้ำมันดิบลิเบียลดลงต่อเนื่องจาก 450,000 ในเดือน ต.ค.มาอยู่ที่ 250,000 ในเดือน พ.ย. ล่าสุดประธานาธิบดีลิเบียแถลงว่าการที่ประเทศไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้ตามปกติทำให้รายได้ของประเทศหายไปแล้วกว่า 20%
ข่าวเด่น