"WTI ลดหลังคาดเฟดจะลดขนาดมาตรการQE ส่วนเบรนท์ขึ้นจากความไม่สงบในตะวันออกกลาง"
เวสต์เท็กซัสส่งมอบ ม.ค. ปรับลดลง 0.90 เหรียญฯ ปิดที่ 96.60 เหรียญฯ ขณะที่เบรนท์เดือน ม.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 0.16 เหรียญฯ มาอยู่ที่ 108.83 เหรียญฯ
- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับลดลงเนื่องจากตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจจะลดขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯในสัปดาห์นี้ หลังพบว่าตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯปรับตัวดีขึ้น
+ ในขณะที่เบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ความไม่สงบในลิเบีย ส่งผลให้ตลาดมีความกังวลว่าลิเบียจะสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันดิบจาก 3 ท่าเรือได้ทันตามที่รัฐบาลประกาศไว้ว่าจะเปิดดำเนินการอีกครั้งในวันที่ 15 ธ.ค.หรือไม่ หลังจากกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องส่วนแบ่งรายได้การส่งออกน้ำมันดิบจากรัฐบาลซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ
+ ล่าสุดหลังการเจรจาระหว่างรัฐบาลลิเบียกับผู้นำของกลุ่มผู้ประท้วงเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ทางกลุ่มผู้ประท้วงยืนยันว่าจะไม่มีการเปิดดำเนินการ 3 ท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบเพิ่ม หลังรัฐบาลไม่ตกลงตามข้อเรียกร้องจากกลุ่มผู้ประท้วง
+ นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ยังได้รับแรงหนุนจากเหตุความรุนแรงในอิรัก โดยมีมือปืนได้ก่อเหตุยิงคนงาน 18 คนที่กำลังปฏิบัติงานขยายพื้นที่ท่อส่งก๊าซอยู่ ขณะที่อียิปต์ก็มีเหตุการณ์ลอบวางระเบิดรถยนต์สร้างความเสียหายกับสถานที่ราชการ
- ตลาดยังคงจับตามองเกี่ยวกับการเจรจาต่อรองระหว่างกลุ่มประเทศผู้นำ 6 ประเทศกับอิหร่านที่มีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่าน ทำให้กลุ่มประเทศโอเปกผู้ส่งออกน้ำมันดิบจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นส่งผลต่ออุปทานน้ำมันดิบของโลกที่จะเพิ่มขึ้นอีก
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ แม้ว่าปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังที่สิงคโปร์ลดลงอย่างต่อเนื่อง และยังคงมีอุปสงค์จากอินโดนีเซียและเวียดนามอยู่บ้าง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ อย่างไรก็ตามมีอุปทานในภูมิภาคยังคงล้นตลาดจากความต้องการในภูมิภาคทั้งเวียดนามและอินโดนีเซียที่ลดลง
ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวอยู่ที่กรอบ 92 - 100 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 108 -114 เหรียญฯ จับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ว่าจะตัดสินใจลดทอนมาตรการ QE หรือไม่ รวมถึงจับตาตัวเลขดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯและจีน และดัชนีภาคการบริการสหภาพยุโรปที่จะประกาศในวันนี้
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่
วันจันทร์: ดัชนีภาคการผลิต การผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ และดัชนีภาคการผลิตจีน รวมไปถึงดัชนีภาคการผลิต และดัชนีภาคการบริการสหภาพยุโรป
วันอังคาร: ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐ และดัชนีราคาผู้บริโภคสหภาพยุโรป
วันพุธ: ยอดการขอสร้างบ้านใหม่สหรัฐฯ
วันพฤหัส: ยอดขายบ้านมือสอง และยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานสหรัฐฯ
วันศุกร์: จีดีพีไตรมาส 3/2556 ของสหรัฐฯ (Final) และความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหภาพยุโรป
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
- การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 17 – 18 ธ.ค. นี้ ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าจะมีการหารือเรื่องการลดวงเงินที่ใช้ในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล (QE4) หลังล่าสุดตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลขภาคการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้นมาก
- การประกาศจีดีพีสหรัฐฯ ไตรมาส 3/56 (ครั้งที่ 3) ในวันที่ 20 ธ.ค. นี้ ที่คาดว่าจะออกมาดี หลังตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ออดมาดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่จะยังปรับลดลงต่อเนื่อง หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ เพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นเพื่อรองรับกับความต้องการใช้ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในฤดูหนาว
- การเปิดใช้ท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone อย่างเป็นทางการในเดือน ม.ค. 57 ที่จะขนส่งน้ำมันดิบจากคุชชิ่งไปยังโรงกลั่นบริเวณรัฐเท็กซัสได้ราว 700,000 บาร์เรลต่อวัน
ข่าวเด่น