"ราคาน้ำมันดิบขึ้นต่อหลังตัวเลขความต้องการใช้น้ำมันสูงสุดในรอบ 6 ปี"
เวสต์เท็กซัสส่งมอบ ม.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 0.97 เหรียญฯ ปิดที่ 98.77 เหรียญฯ ขณะที่เบรนท์เดือน ก.พ. ปรับเพิ่มขึ้น 0.66 เหรียญฯ มาอยู่ที่ 110.29 เหรียญฯ
+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ที่ดีของโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ หลังจากกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุงในช่วงก่อนหน้านี้ โดยสถาบันปิโตรเลียมอเมริกันเปิดเผยตัวเลขความต้องการใช้น้ำมันปิโตรเลียมในเดือน พ.ย. สูงสุดในรอบ 6 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 19.4 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ตัวเลขการส่งออกเดือน พ.ย. อยู่ที่ 3.6 ล้านบาร์เรลซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบปีนี้บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
+ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้นจากความกังวลในอุปทานฝั่งยุโรป หลังโรงกลั่นน้ำมัน Total ในฝรั่งเศสปิดตัวลงเป็นจำนวนสี่โรงจากการประท้วงขอขึ้นเงินเดือนของพนักงาน โดยการหยุดงานครั้งนี้ส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันหายไปถึง 700,000 บาร์เรลต่อวัน โดยพนักงานเรียกร้องขอโบนัสเป็นเงิน 1500 ยูโรและขอเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเดือนละ 100 ยูโร
+ เหตุการณ์ความไม่สงบในลีเบียยังหนุนราคาน้ำมันต่อ โดยปัจจุบันลิเบียส่งออกน้ำมันดิบเหลือวันละ 110,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือน ก.ค.ที่ส่งออกมากกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะเดียวกันรัฐบาลต้องเพิ่มปริมาณนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อนำมาใช้ในประเทศ
- สำนักงานแรงงานเปิดเผยยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานสหรัฐฯในเดือน พ.ย.เพิ่มขึ้น 10,000คน มาอยู่ที่ 379,000คน สูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์บางส่วนเชื่อว่าตัวเลขนี้สวนทางกับตัวเลขการจ้างงานที่ดีขึ้น
- ยอดขายบ้านมือสองสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. ปรับลดลง 4.6% มาอยู่ที่ 4.9 ล้านยูนิตซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบหนึ่งปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 5.03 ล้านยูนิต เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาบ้านปรับตัวเพิ่มขึ้น
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากโรงกลั่น Jamnagar ในอินเดียที่มีกำลังการผลิต 0.66 ล้านบาร์เรลต่อวันหยุดชะงักลงจากปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเล็กน้อย จากความกังวลในอุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้น จากการที่ประเทศเกาหลีใต้ได้มีการผลิตที่น้อยลง
ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่กรอบ 92 - 100 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 108 -114 เหรียญฯ จับตาจีดีพีไตรมาส 3/2556 ของสหรัฐฯ (Final) และความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหภาพยุโรป ที่จะประกาศในวันนี้
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์หน้า ได้แก่
วันจันทร์: ความรู้สึกผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
วันอังคาร: ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และยอดขายบ้านใหม่สหรัฐฯ
วันพุธ: วันหยุดคริสต์มาสในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป
วันพฤหัส: ยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานสหรัฐฯ ในขณะที่เป็นวันหยุดธนาคารของสหภาพยุโรป
วันศุกร์: -
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
- การประกาศจีดีพีสหรัฐฯ ไตรมาส 3/56 (ครั้งที่ 3) ในวันที่ 20 ธ.ค. นี้ ที่คาดว่าจะออกมาดี หลังตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ออดมาดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่จะยังปรับลดลงต่อเนื่อง หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ เพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นเพื่อรองรับกับความต้องการใช้ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในฤดูหนาว
- การเปิดใช้ท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone อย่างเป็นทางการในเดือน ม.ค. 57 ที่จะขนส่งน้ำมันดิบจากคุชชิ่งไปยังโรงกลั่นบริเวณรัฐเท็กซัสได้ราว 700,000 บาร์เรลต่อวัน
ข่าวเด่น