บมจ.ไทยออยล์ระบุ "ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นที่สุดในรอบ 20 ปี ในอเมริกาเหนือ"
เวสต์เท็กซัสส่งมอบ ก.พ. ปรับเพิ่มขึ้น 0.24 เหรียญฯ ปิดที่ 93.67 เหรียญฯ ขณะที่เบรนท์ส่งมอบเดือน ก.พ. ปรับเพิ่มขึ้น 0.62 เหรียญฯ มาอยู่ที่ 107.35 เหรียญฯ
+ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นที่สุดในรอบ 20 ปี ในแถบประเทศอเมริกาและแคนาดา ส่งผลให้โรงกลั่นต่างๆ ในแถบนั้นต้องหยุดหรือลดกำลังการผลิตลง โดยโรงกลั่นน้ำมันที่ Detroit โดนผลกระทบลดกำลังการผลิตลง 120,000 บาร์เรลต่อวัน และหน่วยผลิตน้ำมันเบนซินซึ่งมีกำลังการผลิตที่ 212,000 บาร์เรลต่อวัน ต้องหยุดดำเนินการ รวมถึงโรงกลั่นน้ำมันที่ New Jersey ซึ่งมีกำลังการผลิตที่ 160,000 บาร์เรลต่อวัน ต้องหยุดดำเนินการผลิตจากสภาวะอากาศที่หนาวเย็นเช่นเดียวกัน
+ ส่วนโรงกลั่นน้ำมัน Shell Canada ก็ได้รับผลกระทบเรื่องสภาวะอากาศเช่นเดียวกัน โดยจะต้องหยุดดำเนินการหน่วยกลั่นที่มีกำลังการผลิตที่ 75,000 บาร์เรลต่อวันลง
+ ปัญหาในลิเบียยังคงเป็นที่กังวลในระยะยาวของนักลงทุน หลังจากกองทัพเรือของลิเบียได้เริ่มยิงเรือขนส่งน้ำมันที่จะเข้ามารับน้ำมันดิบอย่างผิดกฎหมายที่ท่าเรือ Es Sider ซึ่งท่าเรือนี้ถูกควบคุมมาเป็นเวลาหลายเดือนโดยกลุ่มผู้ประท้วงที่จะแยกตัวออกไปปกครองตนเองจากเมืองทริโปลี เมืองหลวงของลิเบีย
+ ในขณะเดียวกันนักลงทุนมีความกังวลต่อปริมาณน้ำมันดิบที่จะส่งออก หลังจากเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศอิรัค โดยเกิดการปะทะกันระหว่างรัฐบาลของอิรักและกลุ่มติดอาวุธในเมืองฟาลลูจาห์และรอบๆจังหวัดอันบาร์ของอิรัก และความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นต่อรัฐสภาที่กำลังจะมีการเลือกตั้งขึ้นในเดือน เม.ย. นี้
- ดัชนีราคาผู้บริโภคสหภาพยุโรป (Flash) ในเดือน ธ.ค. ปรับลดลงมาอยู่ที่ 0.8% ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าตัวเลขจะคงที่เท่ากับเดือน พ.ย. อยู่ที่ 0.9%
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานตึงตัว หลังจากที่มีโรงกลั่นน้ำมันดิบหยุดซ่อมบำรุงอย่างกระทันหันทั้งในสหรัฐฯ และในเอเซีย
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีอุปสงค์ที่มากขึ้นจากทางเวียดนามและอเมริกา
ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวอยู่ที่กรอบ 92 - 98 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 104-110 เหรียญฯ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์หน้า ได้แก่
วันพุธ: ยอดค้าปลีกสหภาพยุโรป อัตราการว่างงานสหภาพยุโรป
วันพฤหัส: ยอดผู้ขอรับสิทธิประโยขน์จากการว่างงานสหรัฐ ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน
วันศุกร์: การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ อัตราการว่างงานสหรัฐฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
- จับตาการเจรจาสันติภาพในเอธิโอเปียเพื่อหาข้อสรุปของความรุนแรงในซูดานใต้ที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 2 ม.ค. หลังความรุนแรงในประเทศส่งผลให้ปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบจากซูดานใต้ลดลงมาอยู่ที่ราว 200,000 บาร์เรลต่อวัน
- ความคืบหน้าของการเริ่มปฏิบัติข้อตกลงยุติโครงการนิวเคลียร์ชั่วคราวของอิหร่านที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 20 ม.ค. นี้ ซึ่งจะมีระยะเวลา 6 เดือน หลังอิหร่านและ 6 ชาติมหาอำนาจตะวันตกมีหารือกันล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 56 ที่ผ่านมา
- ติดตามรายงานบันทึกการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ครั้งล่าสุด ในวันที่ 8 ม.ค. นี้ เพื่อดูมุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯและคาดการณ์นโยบาย QE หลังธนาคารกลางสหรัฐฯมีมติชะลอมาตรการ QE ลง ในการประชุมเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา
- จับตาปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าหลังปีใหม่ตัวเลขอาจจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มมากขึ้นหลังปรับลดลงมากในช่วงสิ้นปี เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันและผู้ค้าต้องการเก็บน้ำมันดิบในปริมาณต่ำด้วยเหตุผลทางภาษี
ข่าวเด่น