บมจ.ไทยออยล์ ชี้น้ำมันได้แรงหนุนจากตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือน มี.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 0.72 เหรียญฯ มาอยู่ที่ 107.41 เหรียญฯ ส่วนเวสต์เท็กซัสส่งมอบ มี.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 1.69 เหรียญฯ มาอยู่ที่ 97.41 เหรียญฯ
ราคาน้ำมันดิบเวสเท็กซัสปรับเพิ่ม ภายหลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ มีการรายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ในเดือน ม.ค. 57 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 80.7 จุด จากระดับ 77.5 จุด ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 56 ซึ่งนับเป็นสัญญานบ่งชี้ว่าผู้บริโภคสหรัฐฯฯ เริ่มมีทัศนคติที่ดีขึ้นในการฟื้นตัวของสภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในส่วนของตลาดแรงงานและภาคธุรกิจ
ขณะที่การเปิดดำเนินการของท่อส่งน้ำมันดิบ Keystone ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้การขนส่งน้ำมันดิบจากจุดส่งมอบน้ำมันคุชชิ่ง โอกลาโฮมา มายัง Gulf coast มีความคล่องตัวเพิ่มมากขึ้น ยังคงเป็นอีกหนึ่งแรงหนุนสำคัญของการปรับเพิ่มของราคาน้ำมันดิบเวสเท็กซัส
อย่างไรก็ตาม ยอดสั่งซื้อสินค้าคงประจำเดือน ธ.ค. 56 มีการปรับตัวลดลง 4.3% สวนทางกับการคาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.8% ในขณะที่อัตราการขยายตัวของยอดส่งซื้อสินค้าคงทนเดือน พ.ย. 56 ถูกปรับทบทวนลงจาก 3.4% เป็น 2.6%
สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 4.7 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.3 ล้านบาร์เรล สำหรับน้ำมันเบนซินคงคลังนั้นปรับเพิ่มขึ้น 0.4 ล้านบาร์เรล น้อยกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.1 ล้านบาร์เรล แต่อย่างไรก็ตามสำหรับน้ำมันดีเซลคงคลังปรับลดลงกว่า 1.8 ล้านบาร์เรล เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นส่งผลให้มีการใช้น้ำมันทำความร้อนมากขึ้น
ตลาดยังคงจับตามองผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ซึ่งจะสิ้นสุดในวันนี้ โดยตลาดมีกระแสการความกังวลว่าเฟดอาจมีการประกาศการชะลอมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE ลงอีก 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เหลือ 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันที่ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอุปทานในภูมิภาคเพื่อเตรียมรับความต้องการที่จะเพิ่มมากขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน ประกอบกับยังไม่มีโอกาสในการส่งออกน้ำมันเบนซินจากฝั่งเอเชียไปยุโรป อย่างไรก็ดี มีการคาดการณ์ว่าอุปสงค์ในเดือน ก.พ. 57 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากความต้องการของอินโดนีเซีย
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์ยังคงอยู่ในสภาวะซบเซา อย่างไรก็ดี อุปทานน้ำมันดีเซลในภูมิภาคมีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะตึงตัวจากการปรับตัวลดลงของปริมาณการส่งออกจากไต้หวันในเดือน ก.พ. 57 เนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น
ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวอยู่ที่กรอบ 93- 99 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 104-110 เหรียญฯ คืนนี้ติดตามผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (วันสุดท้าย)
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่
วันพุธ: ประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (วันสุดท้าย)
วันพฤหัสบดี: จีดีพีไตรมาสที่ 4/2556 ยอดขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน และยอดสัญญาซื้อขายบ้านรอปิดการขายสหรัฐฯ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหภาพยุโรป รวมไปถึงดัชนีภาคการผลิตจีน (HSBC)
วันศุกร์: ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ และยอดการว่างงานสหภาพยุโรป
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
- การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 ม.ค.นี้ ว่าจะมีมุมมองต่อเศรษฐกิจและนโยบายทางการเงินอย่างไร ภายหลังตัดสินใจปรับลดมาตรการอัดฉีดทางการเงิน (QE) ลง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนในการประชุมครั้งที่ผ่านมา
- จีดีพีไตรมาส 4/2556 สหรัฐฯ ประเทศมหาอำนาจซึ่งมีความต้องการใช้น้ำมันดิบกว่า 1 ใน 4 ของโลก ที่จะประกาศในวันที่ 30 ม.ค.
- ปัญหาการประท้วงในลิเบียที่ยังคงเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลต่อภาวะอุปทานตึงตัว อย่างไรก็ดีล่าสุดนายกรัฐมนตรีลิเบียออกมาประกาศว่ามีแผนการที่จะเข้ายึดท่าขนส่งน้ำมันทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งมีกำลังการส่งออกรวมอยู่ที่ราว 0.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- การเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการของท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone โดยเบื้องต้นท่อดังกล่าวคาดว่าจะเริ่มขนส่งน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ความไม่สงบในซูดานใต้ที่ยังคงคุกรุ่น โดยล่าสุดประธานาธิบดีซูดานใต้ได้สั่งการให้ทหารเข้าจู่โจมผู้ก่อการกบฏเพื่อขับไล่ผู้ก่อการกบฏออกจากรัฐมะละกา สร้างความกังวลต่อความสามารถในการส่งออกน้ำมันดิบของประเทศ
ข่าวเด่น