บมจ.ไทยออยล์ ชี้น้ำมันราคาลดลงหลังรายงานน้ำมันคงคลังเพิ่มเกินคาดการณ์
เบรนท์ส่งมอบเดือน มี.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 0.44 เหรียญฯ มาอยู่ที่ 107.85 เหรียญฯ ส่วนเวสต์เท็กซัสส่งมอบ มี.ค. ปรับลดลง 0.05 เหรียญฯ มาอยู่ที่ 97.36 เหรียญฯ
- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับตัวลดลงหลัง สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ม.ค. 57 ปรับเพิ่มขึ้น 6.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 358 ล้านบาร์เรล ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 2.3 ล้านบาร์เรล เนื่องจากเป็นช่วงการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นของสหรัฐฯ ส่วนน้ำมันเบนซินคงคลังปรับลดลง 0.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 234 ล้านบาร์เรล สวนทางกับนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.1 ล้านบาร์เรล และน้ำมันดีเซลคงคลังปรับลดลง 4.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 2.6 ล้านบาร์เรล
- ตลาดน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสได้รับแรงกดดันจากผลสรุปของการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)ทีมีระยะเวลาการประชุม 2 วัน ซึ่งสิ้นสุดใน 29 ม.ค. โดยเฟดตัดสินใจที่จะชะลอมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE ลงอีก 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลงเหลือ 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันที่ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยจะมีผลตั้งแต่เดือน ก.พ. 2557 ซึ่งของธนาคารกลางสหรัฐฯก็ยังคงมีแผนที่จะปรับ QE ลงอีก หากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯปรับตัวดีขึ้น
+ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมับดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบของความไม่สงบในตะวันออกกลางที่ยังมีต่อเนื่อง ส่งผลต่ออุปทานที่ตึงตัวในตลาด โดยความไม่สงบในซีเรียส่งผลให้อิรักต้องยับยั้งการการพัฒนาแหล่งสำรองน้ำมันดิบและแก๊ส รวมไปถึงท่อส่งน้ำมันหลักหลายแหล่งในแถบทะเลMediterranean เนื่องจากถูกระเบิดหลายครั้ง
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังที่ประเทศสิงคโปร์ปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ ประกอบกับมีความต้องการจากประเทศฟิลิปปินส์และประเทศไต้หวันเข้ามาในตลาด
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังที่ประเทศสิงคโปร์ปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์เช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากเกาหลีมีการส่งออกที่ลดลง ขณะที่ความต้องการในเวียดนามปรับตัวสูงขึ้นด้วย
ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวอยู่ที่กรอบ 93- 99 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 104-110 เหรียญฯ คืนนี้ติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 4/2556 ยอดขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน และยอดสัญญาซื้อขายบ้านรอปิดการขายสหรัฐฯ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหภาพยุโรป รวมไปถึงดัชนีภาคการผลิตจีน (HSBC)
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่
วันพฤหัสบดี: จีดีพีไตรมาสที่ 4/2556 ยอดขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน และยอดสัญญาซื้อขายบ้านรอปิดการขายสหรัฐฯ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหภาพยุโรป รวมไปถึงดัชนีภาคการผลิตจีน (HSBC)
วันศุกร์: ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ และยอดการว่างงานสหภาพยุโรป
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
- จีดีพีไตรมาส 4/2556 สหรัฐฯ ประเทศมหาอำนาจซึ่งมีความต้องการใช้น้ำมันดิบกว่า 1 ใน 4 ของโลก ที่จะประกาศในวันที่ 30 ม.ค.
- ปัญหาการประท้วงในลิเบียที่ยังคงเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลต่อภาวะอุปทานตึงตัว อย่างไรก็ดีล่าสุดนายกรัฐมนตรีลิเบียออกมาประกาศว่ามีแผนการที่จะเข้ายึดท่าขนส่งน้ำมันทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งมีกำลังการส่งออกรวมอยู่ที่ราว 0.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- การเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการของท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone โดยเบื้องต้นท่อดังกล่าวคาดว่าจะเริ่มขนส่งน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ความไม่สงบในซูดานใต้ที่ยังคงคุกรุ่น โดยล่าสุดประธานาธิบดีซูดานใต้ได้สั่งการให้ทหารเข้าจู่โจมผู้ก่อการกบฏเพื่อขับไล่ผู้ก่อการกบฏออกจากรัฐมะละกา สร้างความกังวลต่อความสามารถในการส่งออกน้ำมันดิบของประเทศ
ข่าวเด่น