ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
คาดเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหว 32.90-33.20 บาทต่อดอลลาร์


 

 

 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปภาวะตลาดเงินรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (27-31 ม.ค.) เงินบาททยอยอ่อนค่าเข้าใกล้ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ฯ อีกครั้ง โดยเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่าในช่วงแรกท่ามกลางความกังวลต่อปัญหาด้านเสถียรภาพของตลาดเกิดใหม่บางประเทศ (เช่น อาร์เจนตินา และตุรกี) ในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะถูกกดดันเพิ่มเติมต่อเนื่องในช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติลดวงเงินซื้อพันธบัตรรายเดือนลงอีก 1.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ สู่ระดับ 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือน โดยจะเริ่มใช้วงเงินซื้อสินทรัพย์ใหม่นี้ในเดือนก.พ. 2557 นอกจากนี้ นักลงทุนก็ยังคงจับตาดูสถานการณ์ทางการเมืองของไทยในช่วงนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ (31 ม.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.97 เทียบกับระดับ 32.82 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 ม.ค.)
           
สำหรับแนวโน้มสัปดาห์ถัดไป (3-7 ก.พ.) เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ 32.90-33.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยต้องจับตาสถานการณ์การเมืองในประเทศหลังการเลือกตั้งทั่วไป ดัชนี PMI เดือนม.ค.ของหลายๆ ประเทศ รวมถึงทิศทางสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงานเดือนม.ค. 2557 ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ รายจ่ายด้านการก่อสร้างเดือนธ.ค. 2556 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดอาจจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปด้วยเช่นกัน    

เงินยูโรร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ เงินยูโรทยอยอ่อนค่าลงในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ ท่ามกลางความระมัดระวังในการปรับลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุน ภายหลังจากเกิดความปั่นป่วนขึ้นในสินทรัพย์และสกุลเงินของประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่บางประเทศ เงินยูโรร่วงลงอย่างหนักในช่วงท้ายสัปดาห์ หลังเฟดมีมติปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรภายใต้มาตรการ QE ในการประชุมรอบล่าสุดมาที่ 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือน ตามที่ตลาดคาด ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนชะลอลงผิดคาดมาที่ร้อยละ 0.7 ในเดือนม.ค.

เงินเยนอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดยเงินเยนอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ ท่ามกลางการคาดการณ์เกี่ยวกับการชะลอมาตรการ QE ของเฟด ประกอบกับแรงกดดันต่อสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่เริ่มผ่อนคลายลงช่วงสั้นๆ หลังจากที่ธนาคารกลางตุรกีปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่เพื่อพยุงค่าเงิน Lira นอกจากนี้ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2556 ของสหรัฐฯ ที่ขยายตัวดีตามที่คาด ก็ช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ดี กรอบการอ่อนค่าของเงินเยนค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่น สะท้อนว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจจะยังไม่ผ่อนคลายนโยบายการเงินลงอีกในระยะใกล้ๆ นี้

ในวันศุกร์ (31 ม.ค.) เงินยูโรปรับตัวอยู่ที่ระดับ 1.3532 เทียบกับ 1.3675 ดอลลาร์ฯ ต่อยูโรในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 ม.ค.) ส่วนเงินเยนอยู่ที่ 102.37 เทียบกับ 102.28 เยนต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 ก.พ. 2557 เวลา : 10:27:23

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:17 pm