บมจ.ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันลดลงหลังตัวเลขการผลิตสหรัฐฯชะลอตัว
น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสส่งส่งมอบเดือน มี.ค. ปรับลดลง 1.06 เหรียญฯ มาอยู่ที่ 94.43 เหรียญฯ ขณะที่เบรนท์มอบ มี.ค. ปรับลดลง 0.36 เหรียญฯ มาอยู่ที่ 106.04 เหรียญฯเนื่องจากหลายปัจจัย
- อัตราการขยายตัวของภาคการผลิตของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงในเดือน ม.ค. เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 33 ปี ส่งผลให้ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ(ISM)ในเดือน ม.ค. ลดลงเป็น 51.3 จาก 56.5 ในเดือนก่อนหน้า และแตะระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน
- ดัชนีภาคการผลิตของจีน (PMI) ในเดือนม.ค.ลดลงเป็น 50.5 จากระดับ 51 ในเดือนธ.ค. นอกจากนี้ยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ลดลงเป็น 50.9 แตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือน ส่งผลให้ตลาดเกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนอาจชะลอตัวลง
- คาดว่าโรงกลั่นน้ำมันที่จะปิดซ่อมบำรุงในสหรัฐฯ ณ สิ้นสุดสัปดาห์วันที่ 7 ก.พ. จะผลิตลดลงเป็น 800,000 บาร์เรลต่อวัน จาก 979,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนก่อนหน้า
-หลุมน้ำมัน Buzzard ซึ่งเป็นหลุมน้ำมันที่ใหญ่แห่งหนึ่งบริเวณทะเลเหนือ จำเป็นต้องหยุดดำเนินการผลิตกะทันหัน เป็นปัจจัยหนุนให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ลดลงไปไม่มากนัก
-ตลาดยังคงกังวลว่า ความไม่สงบในซีเรียอาจขยายวงกว้างไปยังประเทศอื่นๆในแถบตะวันออกกลางซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ และส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมัน
+/- ตลาดยังคงจับตาความคืบหน้าของการกลับมาส่งออกน้ำมันดิบจากท่าเรือฝั่งตะวันออกของลิเบีย หลังนายกรัฐมนตรีลิเบียได้สั่งการให้ทหารเดินหน้าเปิดท่าเรือฝั่งตะวันออกของประเทศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานน้ำมันเบนซินในสิงคโปร์อยู่ในระดับสูง หลังตะวันตกและอินเดียส่งออกน้ำมันเบนซินมากยังสิงคโปร์มากขึ้น
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังในสิงคโปร์ปรับลดลง อีกทั้งยังคาดว่าอุปทานในภูมิภาคจะลดลงจากการที่โรงกลั่นบางโรงในญี่ปุ่นและเกาหลีมีแนวโน้มจะลดกำลังการผลิตลง
ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวอยู่ที่กรอบ 93- 99 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 104-110 เหรียญฯ คืนนี้ติดตามการประกาศตัวเลขดัชนีภาคการบริการสหรัฐฯ(ISM) รวมไปถึงดัชนีภาคการบริการ(Markit) และยอดค้าปลีกสหภาพยุโรป
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่
วันพุธ: ดัชนีภาคการบริการสหรัฐฯ(ISM) รวมไปถึงดัชนีภาคการบริการ(Markit) และยอดค้าปลีกสหภาพยุโรป
วันพฤหัสบดี: ยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างานสหรัฐฯ
วันศุกร์: ดัชนีภาคการบริการจีน (HSBC)
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
- จับตาการประชุมธนาคารกลางสหภาพยุโรปในวันที่ 6 ก.พ. นี้ ว่าผู้นำยุโรปจะมีมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจของกลุ่มในปีนี้อย่างไร ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจธนาคารจะยังคงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไป
- จับตาปัญหาหนี้สหรัฐฯ ที่มีกำหนดชนเพดานในวันที่ 7 ก.พ. นี้ โดยล่าสุดรัฐมนตรีการคลังสหรัฐฯ กระตุ้นให้สภาคองเกรสสร้างความเชื่อมั่นให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นหลายแห่งต้องยุติการดำเนินการชั่วคราวเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่หนาวรุนแรง
- ความไม่สงบใน ซูดานใต้ ซีเรีย และอิรัก ยังคงส่งผลกระทบต่อการผลิตของประเทศ นอกจากนี้ จับตาว่าลิเบียจะกลับมาส่งออกน้ำมันดิบจากท่าเรือฝั่งตะวันออกได้หรือไม่หลังการเจรจาระหว่างรัฐบาลและกลุ่มผู้ประท้วงมีความคืบหน้า
ข่าวเด่น