ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์ชี้ปัญหาอุปทานในแอฟริกาและตัวเลขเศรษฐกิจเยอรมนีหนุนราคาน้ำมัน


+ ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากเหตุการณ์ความไม่สงบในลิเบียและซูดานใต้ที่ยังคงเป็นปัญหายืดเยื้อ โดยในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาปริมาณการผลิตลิเบียได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 0.23 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปรับลดลงจากประมาณ 0.46 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ก่อนหน้า อันเป็นผลจากกลุ่มผู้ประท้วงยังคงปักหลักปิดหลุมน้ำมัน El Sharara ทำให้รัฐบาลลิเบียประสบปัญหาด้านงบประมาณ
 
+ นอกจากนี้กำลังการผลิตของซูดานใต้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 0.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน  โดยล่าสุดรัฐบาลซูดานใต้เตรียมอพยพพนักงานจากหลุมน้ำมันหลักในเมือง Malakal หลังจากเหตุปะทะระหว่างรัฐบาลและกลุ่มกบฎทวีความรุนแรงขึ้น
 
+ ตัวเลขเศรษฐกิจเยอรมนีที่ออกมาสดใส โดยความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (Business Climate) ปรับตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2554 มาอยู่ที่ 111.3 มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 110.6  ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจของหัวเรือหลักของสหภาพยุโรปมีแนวโน้วที่สดใสขึ้น
 
+ การประชุมกลุ่ม G20 ณ ประเทศออสเตรเลียสิ้นสุดลง โดยมีนโยบายจะเพิ่มการจ้างงานและการลงทุนในปลุ่มประเทศ รวมไปถึงการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจีดีพีของกลุ่มประเทศจะปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 2 % ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมูลค่าเศรษฐกิจของกลุ่ม G20 คิดเป็น 85 % ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก
 
- อย่างไรก็ดี ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯออกมาไม่สู้ดีนัก โดยดัชนีภาคการบริการสหรัฐฯ (Makrit)ในเดือนก.พ. ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 52.7  จาก 56.7 ในเดือนก่อนหน้า โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่หนาวเหน็บในสหรัฐฯ
 
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ อันเป็นผลมาจากการปิดซ่อมบำรุงประจำปีของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ทำให้อุปทานน้ำมันเบนซินในสหรัฐฯตึงตัวมากขึ้น และทำให้โอกาสในการขนส่งน้ำมันเบนซินมาจำหน่ายในภูมิภาคเอเชียลดน้อยลง 
 
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์ในภูมิภาคเริ่มปรับตัวลดลง นอกจากนี้ในครึ่งปีแรกนี้จีนเองได้ปรับเพิ่มโควต้าในการส่งออกน้ำมันดีเซลมากขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วอีกด้วย ถึงแม้ว่าจะมีอุปสงค์จากตะวันออกกลางเข้ามาบ้าง อันเป็นผลจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น
 
ทิศทางราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 96 - 104 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 106-112 หรียญฯ
 
ปัจจัยที่น่าจับตามองสัปดาห์นี้
-ปัญหาการส่งออกน้ำมันดิบของลิเบีย เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถหาข้อตกลงกับกลุ่มผู้ประท้วงได้ โดยล่าสุดกำลังการผลิตของลิเบียปรับลดลงมาอยู่ที่ 0.23 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากหลุมน้ำมันหลัก El Sharara ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้เต็มที่
 
-เหตุการณ์ประท้วงในเวเนซูเอล่า โดยมีกลุ่มผู้ประท้วงนับหมื่นคนออกมาประท้วงแสดงความไม่พอใจต่อประธานาธิบดี รวมไปถึงเหตุการณ์กบฎในซูดานใต้ ซึ่งได้ประกาศจะเข้ายึดเมืองหลวงของประเทศ โดยล่าสุดซูดานใต้มีกำลังการผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
 
-ปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสหรัฐฯ หลังจากพายุหิมะหลายลูกได้พัดเข้าถล่มหลายเขต เป็นผลให้ปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังปรับลดลงต่อเนื่องในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมไปถึงมีการนำเข้าน้ำมันดีเซลจากยุโรปเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการเพื่อการทำความร้อนอีกด้วย
 
- ติดตามจีดีพีไตรมาส 4/2556 สหรัฐฯ (Prelim) ที่จะประกาศในวันที่ 28 ก.พ.นี้ ว่าประเทศมหาอำนาจที่มีความต้องการใช้น้ำมันดิบกว่า 25% ของโลก จะมีทิศทางเศรษฐกิจอย่างไร โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์จีดีพีไตรมาส 4/2556 ไว้ที่ 2.7%
 
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์หน้า
วันจันทร์ ดัชนีภาคการบริการสหรัฐฯ (Markrit) - ก.พ. 57
วันอังคาร ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยสหรัฐฯ - ธ.ค. 56
                 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ - ก.พ. 57
วันพุธ ยอดขายบ้านใหม่สหรัฐฯ - ม.ค. 57
วันพฤหัสฯ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ - ม.ค. 57
                 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยุโรป - ก.พ. 57
วันศุกร์ จีดีพีสหรัฐฯ (Prelim) - ไตรมาส 4/56
             อัตราการว่างงานยุโรป - ม.ค. 57


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ก.พ. 2557 เวลา : 13:31:21

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:57 am