ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากความวิตกกังวลต่อความตึงเครียดในแคว้นไครเมีย ประเทศยูเครนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังจากมีคำสั่งจากนายวลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ให้ส่งกองกำลังทหาร 16,000 กองทัพเข้าบุกยึดแคว้นไครเมียตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลต่ออุปทานที่น้อยลงของน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป
นอกจากนี้สถานการณ์ความตึงเครียดในแคว้นไครเมีย ส่งผลให้ตลาดมีความกังวลต่อการขนส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังยุโรปซึ่งมีปริมาณถึง 1 ใน 4 ของที่รัสเซียส่งออกทั้งหมด ทำให้ความต้องการน้ำมันเพื่อทำความร้อนเพิ่มขึ้นทดแทนก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะไม่สามารถส่งออกได้
ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ (ISM) เดือน ก.พ. ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 53.2 โดยเพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค. ที่ระดับ 51.3 เนื่องจากตัวเลขของเดือน ม.ค. มีผลกระทบมาจากสภาพอากาศที่เลวร้าย ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นครั้งนี้เป็นการปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 52.0
ดัชนีภาคการผลิตของจีน (HSBC PMI) เดือน ก.พ. ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนที่ผ่าน มาอยู่ที่ระดับ 48.5 โดยลดลงจากเดือน ม.ค. ที่ระดับ 49.5 โดยตัวเลขที่ประกาศออกมานั้นมีความสอดคล้องกับตัวเลขที่ประกาศก่อนหน้านี้ที่ระดับ 48.3
ดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน (Markit PMI) เดือน ก.พ. ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 53.2 ลดลงจากเดือน ม.ค. ที่ระดับ 54 ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่เดือน พ.ค. 54 และส่งผลให้นักลงทุนยังคงมีความกังวลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจของยุโรป
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานที่ลดลงหลังจากที่โรงกลั่นน้ำมันต่างๆ ในสหรัฐฯ เริ่มเข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุง ประกอบกับเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเกิดเหตุไฟไหม้หน่วยกลั่น Hyfdrocracking ซึ่งเป็นหน่วยผลิตน้ำมันเบนซินของโรงกลั่น Tonengeneral ในประเทศญี่ปุ่นที่ปิดซ่อมบำรุงมาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ แต่อย่างไรก็ตามอุปทานจากประเทศไต้หวันและจากภายในภูมิภาคยังคงอยู่ในระดับที่สูง ขณะที่อุปสงค์จากเวียดนามและตะวันออกกลางยังคงซบเซา
ทิศทางราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 96 - 104 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 106-112 หรียญฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามองสัปดาห์นี้
การประชุมธนาคารกลางสหภาพยุโรปในวันที่ 6 มี.ค. นี้ ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่านายมาริโอ้ ดรากี้ ประธานธนาคารฯ จะมีการหารือเรื่องนโยบายดอกเบี้ยว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปหรือไม่ หลังเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
ปัญหาการส่งออกน้ำมันดิบของลิเบีย เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถหาข้อตกลงกับกลุ่มผู้ประท้วงได้ โดยล่าสุดกำลังการผลิตของลิเบียปรับลดลงมาอยู่ที่ 0.23 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากหลุมน้ำมันหลัก El Sharara ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้เต็มที่
จับตาปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังความต้องการใช้มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากโรงกลั่นหลายแห่งในสหรัฐฯ เตรียมเข้าสู่ช่วงของการปิดซ่อมบำรุงประจำปี
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันเสาร์ ดัชนีภาคการผลิตจีน (Official PMI) - ก.พ. 57
วันจันทร์ ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ (ISM) - ก.พ. 57
ดัชนีภาคการผลิตจีน (HSBC PMI) - ก.พ. 57
ดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน (Markit PMI) - ก.พ. 57
วันพุธ การจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ -ก.พ. 57
ดัชนีภาคบริการสหรัฐฯ (ISM) - ก.พ. 57
ดัชนีภาคบริการยูโรโซน (Markit service PMI) - ก.พ. 57
ดัชนีภาคบริการจีน (HSBC service PMI) - ก.พ. 57
จีดีพียูโรโซน - ไตรมาส 4/56
วันพฤหัสฯ ยอดสั่งซื้อสินค้าโรงงานสหรัฐฯ - ก.พ. 57
ยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์การว่างงาน
วันศุกร์ อัตราการว่างงานสหรัฐฯ - ก.พ. 57
การจ้างงานนอกภาคเกษตร - ก.พ. 57
ข่าวเด่น