นายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า ตามที่นายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อ 19 ก.พ.57 กรณีการออกประกาศและการดำเนินการต่างๆ ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) อันมีผลทำให้การเลือกตั้งทั่วไปที่ได้จัดให้มีขึ้นในวันที่ 2 ก.พ.57 เป็นการจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่มิได้ดำเนินการเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร เป็นการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรมขัดกับหลักความเสมอภาค และเป็นไปโดยไม่ให้โอกาสที่ทัดเทียมกันของผู้สมัครและพรรคการเมือง และทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในระหว่างผู้สมัครและพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 102 มาตรา 108 และมาตรา 30 นั้น
ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกันแล้ว มีความเห็นว่า พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งที่มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เนื่องจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ.57 ตามพ.ร.ฎ.ดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 93 วรรคสอง มาตรา 30 วรรคแรก ประกอบมาตรา 235 และมาตรา 236(1) (2) จึงอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.25502 มาตรา 245(1) เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย เมื่อวันที่ 6 มี.ค.57
"ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นกรณีนายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ "นายรักษเกชากล่าว
ข่าวเด่น