ตลาดแรงงานสหรัฐฯดีเกินคาด หนุนราคาน้ำมันปรับเพิ่ม
+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ส่อเค้าปรับตัวดีขึ้นในระยะหลัง เนื่องจากตัวเลขดังกล่าวจะแสดงถึงภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นและความต้องการใช้น้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นโดยล่าสุดตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.พ.ปรับเพิ่มขึ้น 175,000 ตำแหน่ง มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ปรับเพิ่มขึ้น 149,000 ตำแหน่ง อย่างไรก็ดี ตัวเลขภาคการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้นอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯมีการตัดสินใจปรับลดมาตรการ QE เพิ่มเติมได้
+ การเจรจาระหว่างสหรัฐฯและรัสเซียกรณีความไม่สงบในยูเครนยังไม่มีทีท่าสำเร็จ โดยผู้นำสหภาพยุโรปและประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย บารัค โอบามา ให้ความเห็นว่าการลงมติแยกแคว้นไครเมียออกจากยูเครนเพื่อไปอยู่ใต้การปกครองของรัสเซียนั้นเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญยูเครน
+ ตัวเลขภาคการผลิตเยอรมนีที่ปรับตัวดีขึ้นโดย การผลิตภาคอุตสาหกรรมเยอรมนีเดือน ม.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 5% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ปรับเพิ่มขึ้น 2.4% ซึ่งถือว่าเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2554
- อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะภาคเอกชน เนื่องจากจีนนั้นถือว่าเป็นประเทศที่มีหนี้ภาคเอกชนอยู่ในระดับสูง ล่าสุดบริษัทผลิตอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์แห่งหนึ่งของจีนได้ผิดชำระหนี้ตราสาร ซึ่งถือว่าเป็นการผิดนัดชำระนี้ตราสารสกุลเงินหยวนครั้งแรกของจีน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ อันเป็นผลจากผู้นำเข้าหลักในภูมิภาคอย่างเวียดนามมีการนำเข้าน้ำมันเบนซินมากกว่าปกติ ท่ามกลางฤดูการปิดซ่อมบำรุงที่กำลังจะมาถึงในประเทศต่างๆในภูมิภาค เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินเดีย
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ อันเป็นผลมาจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังที่สิงค์โปร์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 10.7 ล้านบาร์เรล เนื่องจากมีการส่งออกจากรัสเซีย จีน และมาเลเซีย
ทิศทางราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 98 - 106 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 106-112 เหรียญฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามองสัปดาห์นี้-
- จับตาการลงประชามติของชาวไครเมีย เพื่อขอเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียในวันที่ 16 มี.ค. นี้ หลังรัฐสภามีมติเป็นเอกฉันท์ที่จะกลับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเหตุการณ์ในรัฐไครเมียทำให้ตลาดกังวลว่าการขนส่งแก๊สและน้ำมันของรัสเซียผ่านไปขายยังยุโรปจะเกิดปัญหาขึ้น
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะยังคงปรับเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ เข้าสู่ช่วงการปิดดซ่อมบำรุงส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบลดลง นอกจากนี้อุณหภูมิในสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันทำความร้อนเริ่มปรับลดลงด้วย
- รายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน มี.ค. จากสำนักสารสนเทศน์ด้านพลังงานสหรัฐฯ (11 มี.ค.) โอเปก (12 มี.ค. ) และสำนักงานพลังงานสากล (14 มี.ค.)
- ความพยายามในการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งและเพื่อให้สถานการณ์การผลิตน้ำมันดิบในลิเบียกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ทั้งนี้ ล่าสุดลิเบียยังคงมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 0.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงจากกำลังการผลิตในระดับปกติที่ 1.4 ล้านบาร์เรล ในเดือน ก.ค. 56
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันจันทร์ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนยุโรป - มี.ค. 57
วันอังคาร -
วันพุธ การผลิตภาคอุตสาหกรรมยุโรป - ม.ค. 57
วันพฤหัสฯ ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ - ก.พ. 57
สินค้าคงคลังสหรัฐฯ - ม.ค. 57
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน - ก.พ. 57
ยอดค้าปลีกจีน - ก.พ. 57
วันศุกร์ ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ - ก.พ. 57
ข่าวเด่น