ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
บมจ.ไทยออยล์ชี้ตัวเลขเศรษฐกิจจีนฉุดราคาน้ำมัน


 
 
 
บมจ.ไทยออยล์ชี้ราคาน้ำมันดิบลด จากความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนชะลอตัว หลังยอดการส่งออกร่วงหนัก
 
 
- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง จากความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนอาจจะชะลดตัวลง และอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน หลังสำนักงานศุลกากรของจีนเผย ยอดการส่งออกของจีนในเดือนก.พ. ลดลง 18.1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะเติบโต 6.8% ขณะที่ยอดการนำเข้า เพิ่มขึ้น 10.1% ใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโต 8% ส่งผลให้จีนต้องขาดดุลการค้าถึง 2.3 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ สูงที่สุดในรอบ 2 ปี
 
- ขณะที่ต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากใกล้เข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่น และอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นทำให้ความต้องการใช้น้ำมันทำความร้อนลดลงอีกด้วย
 
- แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara กำลังดำเนินการผลิตที่ 150,000 บาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะสามารถกลับมาผลิตได้เต็มกำลังที่ 340,000 บาร์เรลต่อวันภายในช่วงบ่ายวันนี้
 
+ อย่างไรก็ดีราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ได้รับแรงหนุนจากความตึงเครียดในยูเครน และตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนยุโรปที่ออกมาใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ โดยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนยุโรป ในเดือน มี.ค. ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 13.9  จาก 13.3 ในเดือนก่อนหน้า และเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ เดือนเม.ย. 2554 ส่งผลให้ความกังวลเรื่องการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเบาบางลง
 
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการนำเข้าน้ำมันเบนซินที่เพิ่มมากขึ้นจากทั้งอินโดนีเซียและเวียดนาม เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับฤดูการปิดซ่อมบำรุงที่กำลังจะมาถึง นอกจากนี้ไต้หวันยังมีแนวโน้มส่งออกน้อยลง หลังเพลิงไหม้โรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่งในประเทศ ทำให้โรงกลั่นดังกล่าวจำเป็นต้องลดกำลังการผลิต
 
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากคาดว่าอุปทานน้ำมันดีเซลในภูมิภาคมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเป็นช่วงปิดซ่อมบำรุง  นอกจากนี้ยังคาดว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซลจากไต้หวันมีแนวโน้มลดลง หลังโรงกลั่นแห่งหนึ่งต้องลดกำลังการผลิตลงหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้
 
ทิศทางราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 98 - 106 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 106-112 เหรียญฯ
 
ปัจจัยที่น่าจับตามองสัปดาห์นี้
- จับตาการลงประชามติของชาวไครเมีย เพื่อขอเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียในวันที่ 16 มี.ค. นี้ หลังรัฐสภามีมติเป็นเอกฉันท์ที่จะกลับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเหตุการณ์ในรัฐไครเมียทำให้ตลาดกังวลว่าการขนส่งแก๊สและน้ำมันของรัสเซียผ่านไปขายยังยุโรปจะเกิดปัญหาขึ้น
 
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะยังคงปรับเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ เข้าสู่ช่วงการปิดดซ่อมบำรุงส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบลดลง นอกจากนี้อุณหภูมิในสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันทำความร้อนเริ่มปรับลดลงด้วย
 
- รายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน มี.ค. จากสำนักสารสนเทศน์ด้านพลังงานสหรัฐฯ (11 มี.ค.) โอเปก (12 มี.ค. ) และสำนักงานพลังงานสากล (14 มี.ค.)
 
- ความพยายามในการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งและเพื่อให้สถานการณ์การผลิตน้ำมันดิบในลิเบียกลับเข้าสู่สภาวะปกติ  ทั้งนี้ ล่าสุดลิเบียยังคงมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 0.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงจากกำลังการผลิตในระดับปกติที่ 1.4 ล้านบาร์เรล ในเดือน ก.ค. 56  
 
 
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันจันทร์ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนยุโรป - มี.ค. 57
วันอังคาร -
วันพุธ การผลิตภาคอุตสาหกรรมยุโรป - ม.ค. 57
วันพฤหัสฯ ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ - ก.พ. 57
                  สินค้าคงคลังสหรัฐฯ - ม.ค. 57
                  ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน - ก.พ. 57
                  ยอดค้าปลีกจีน - ก.พ. 57
วันศุกร์ ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ - ก.พ. 57

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 มี.ค. 2557 เวลา : 10:08:01

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 4:13 am