บมจ.ไทยออยล์ ระบุ WTI ปรับลดมากกว่า $2 หลังสหรัฐฯ ประกาศขายน้ำมันดิบจากการสำรอง
- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับตัวลดลงมากกว่า 2 เหรียญสหรัฐฯ หลังสหรัฐฯ ประกาศที่จะขายน้ำมันดิบจากการคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ปริมาณ 5 ล้านบาร์เรล โดยจะจัดให้มีการประมูลถึงวันที่ 14 มี.ค. 2557 ซึ่งนับเป็นการปล่อยขายในครั้งแรกตั้งแต่ปี 2533
อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ชี้แจงว่าการขายน้ำมันครั้งนี้ได้มีการวางแผนไว้แล้วและการขายเป็นไปเพื่อการทดสอบการระบายน้ำมันออกจากคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ ซึ่งสหรัฐฯ ต้องการทดสอบให้แน่ใจว่าการขนส่งน้ำมันดิบทางท่อจากคลังสำรองไปยังโรงกลั่นในประเทศเป็นไปได้อย่างราบรื่น หลังสหรัฐฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างท่อส่งส่งน้ำมันเมื่อไม่นานมานี้
- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 มี.ค. 57 ปรับเพิ่มขึ้น 6.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 370 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เกือบ 3 เท่าว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเพียง 2.2 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำมันเบนซินและดีเซลคงคลังของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 5.2 และ 0.5 ล้านบาร์เรลตามลำดับ ซึ่งปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 1.6 และ 0.4 ล้านบาร์เรลตามลำดับ
+ แต่อย่างไรก็ตามตลาดยังมีความกังวลเกี่ยวกับการขอแยกตัวออกเป็นเอกราชของดินแดนไครเมีย ซึ่งอาจเป็นประเด็นที่ทำให้สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเพิ่มเติม
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากความต้องการจากประเทศอินโดนีเซียในเดือน เม.ย.ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. ร้อยละ 11 อยู่ที่ 8.6 ล้านบาร์เรล จาก 9.7 ล้านบาร์เรล เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังมีความต้องการเก็บน้ำมันเบนซินเพื่อสำรองใช้ก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันในเดือน พ.ค. - ก.ค.
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากโรงกลั่นใหม่ในเกาหลีใต้จะวางแผนจำหน่ายน้ำมันดีเซลเป็นครั้งแรกในเดือน ก.ค. แต่อย่างไรตามน้ำมันดีเซลปรับลดลงไม่มากนักเนื่องจากยังมีความต้องการจากเวียดนามเพื่อสำรองน้ำมันก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันในช่วง พ.ค. - ก.ค.
ทิศทางราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 96 - 104 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 106-112 เหรียญฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามองสัปดาห์นี้
- จับตาการลงประชามติของชาวไครเมีย เพื่อขอเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียในวันที่ 16 มี.ค. นี้ หลังรัฐสภามีมติเป็นเอกฉันท์ที่จะกลับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเหตุการณ์ในรัฐไครเมียทำให้ตลาดกังวลว่าการขนส่งแก๊สและน้ำมันของรัสเซียผ่านไปขายยังยุโรปจะเกิดปัญหาขึ้น
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะยังคงปรับเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ เข้าสู่ช่วงการปิดดซ่อมบำรุงส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบลดลง นอกจากนี้อุณหภูมิในสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันทำความร้อนเริ่มปรับลดลงด้วย
- รายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน มี.ค. จากสำนักสารสนเทศน์ด้านพลังงานสหรัฐฯ (11 มี.ค.) โอเปก (12 มี.ค. ) และสำนักงานพลังงานสากล (14 มี.ค.)
- ความพยายามในการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งและเพื่อให้สถานการณ์การผลิตน้ำมันดิบในลิเบียกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ทั้งนี้ ล่าสุดลิเบียยังคงมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 0.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงจากกำลังการผลิตในระดับปกติที่ 1.4 ล้านบาร์เรล ในเดือน ก.ค. 56
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันจันทร์ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนยุโรป - มี.ค. 57
วันอังคาร -
วันพุธ การผลิตภาคอุตสาหกรรมยุโรป - ม.ค. 57
วันพฤหัสฯ ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ - ก.พ. 57
สินค้าคงคลังสหรัฐฯ - ม.ค. 57
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน - ก.พ. 57
ยอดค้าปลีกจีน - ก.พ. 57
วันศุกร์ ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ - ก.พ. 57
ข่าวเด่น