ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่ม หลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรผู้สนับสนุน
+ สัญญาณราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ภายหลังสถานการณ์วิกฤติไครเมียเริ่มส่งสัญญาณถึงความตึงเครียดอีกครั้ง จากถ้อยแถลงของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่ประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรกับผู้สนับสนุนรัสเซียเพิ่มเติมอีก 20 คน และจะดำเนินการแทรงแซงระบบเศรษฐกิจหลักของรัสเซียหากพบว่ารัสเซียยังมีการดำเนินการใดๆ ที่ส่อให้เห็นถึงการเข้าแทรงแซงยูเครนเพิ่มเติม ขณะที่ นายวลาดีเมีย ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ประกาศมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ โดยการใช้มาตรการคว่ำบาตรกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ จำนวน 9 ราย เช่นกัน
+ ส่วนราคาน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (สิ้นสุดสัญญาส่งมอบเดือน เม.ย.) ปรับตัวลดลง ภายหลังนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก โดยถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ของเฟดมีมติปรับลดขนาดมาตรการ QE ลงอีก 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการประชุมล่าสุด ส่งผลให้วงเงินการซื้อพันธบัตรปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 5.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน
+ ยอดขายบ้านมือสองประจำเดือน ก.พ. ปรับตัวลง 0.4% มาอยู่ที่ระดับ 4.6 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 56 และสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
+ กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน สัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 15 มี.ค. 57 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5,000 ราย มาอยู่ที่ระดับ 320,000 ราย น้อยกว่าการคาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 325,000 ส่วนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานโดยเฉลี่ย 4 สัปดาห์ ปรับตัวลดลง 3,500 ราย มาอยู่ที่ระดับ 327,000 ราย ทั้งนี้ การปรับตัวลดลงของข้อมูลดังกล่าวนับเป็นการบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานของสหรัฐฯ โดยรวมยังคงสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง
+ ผลสำรวจภาคอุตสาหกรรมฟิลาเดเฟีย ประจำเดือน มี.ค. 57 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 9 จุด จากระดับ -6.3 จุด ในเดือนก่อนหน้า นับเป็นการบ่งชี้ถึงสภาะการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมภายหลังที่ต้องประสบกับสภาวะชะลอตัวในเดือนก่อนหน้าจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังในภูมิภาค ประกอบกับอุปทานที่อาจเพิ่มขึ้นจากอินเดีย
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากการปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังในภูมิภาคยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดีเซลยังคงอยู่ในกรอบที่จำกัดเนื่องจากแรงหนุนของปริมาณอุปสงค์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากอินโดนีเซียและเวียดนามในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี ประกอบกับแนวโน้มของอุปทานที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงเนื่องจากโรงกลั่นหลายโรงมีแผนเข้าสู่ช่วงการปิดซ่อมบำรุง
ทิศทางราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 96 - 104 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 105-111 เหรียญฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามองสัปดาห์นี้
- จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดในแคว้นไครเมีย ซึ่งล่าสุดได้มีการลงนามผนวกแคว้นไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียท่ามกลางความไม่เห็นด้วยจากนานาประเทศ ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น และนานาชาติคว่ำบาตรเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น
+ ติดตามดัชนีภาคอุตสาหกรรมจีนประจำเดือน มี.ค. ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาตลาดค่อนข้างมีความกังวลต่อเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะภาคการผลิต และภาคการส่งออก
+ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันดิบที่ลดลงในช่วงฤดูการปิดซ่อมโรงกลั่น อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ บริเวณ คุชชิ่ง โอคลาโฮมา กลับปรับลดลงต่อเนื่อง ภายหลังท่อขนส่งน้ำมันดิบ Key Stone เปิดใช้ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
- จีดีพีไตรมาส 4/2556 สหรัฐฯ (ประกาศครั้งที่ 3) ที่จะประกาศออกมา ณ วันที่ 27 มี.ค. นี้ ซึ่งจะบ่งบอกถึงความต้องการใช้น้ำมันของประเทศผู้ใช้อันดับ 1 ของโลก ซึ่งคาดว่าจะปรับขึ้นจาก 2.4% ในการประกาศครั้งก่อนหน้า มาอยู่ที่ 2.7% ในการประกาศครั้งนี้
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันจันทร์ ดัชนีภาคการผลิตยุโรป (Markit) - มี.ค.
ดัชนีภาคการบริการยุโรป (Markit) - มี.ค.
ดัชนีภาคการผลิตจีน (HSBC) - มี.ค.
วันอังคาร ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ - มี.ค.
ยอดขายบ้านใหม่สหรัฐฯ - ก.พ.
วันพุธ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ - ก.พ.
วันพฤหัสฯ จีดีพีสหรัฐฯ - 4/2556 (ครั้งที่ 3)
ยอดสัญญาซื้อขายบ้านรอปิดการขายสหรัฐฯ - ก.พ.
วันศุกร์ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยุโรป - มี.ค.
ข่าวเด่น