ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้นหลังบริษัท Shell ออกมาประกาศหยุดการส่งออกน้ำมันดิบ Forcados เนื่องจากเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบจากท่อขนส่งในประเทศไนจีเรียรั่วจากการถูกขโมย การออกมาประกาศครั้งนี้ส่งผลกดดันอุปทานน้ำมันดิบ
นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากประเทศลิเบียที่ลดกำลังการผลิตลง 80,000 บาร์เรลต่อวัน ลงไปอยู่ที่ประมาณ 150,000 บาร์เรลต่อวัน หลังจากมีเหตุการณ์ปิดแหล่งผลิตน้ำมันดิบโดยกลุ่มก่อความไม่สงบก่อการประท้วง
ในทางกลับกันน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับตัวลดลง หลังสถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 มี.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 6.3 ล้านบาร์เรลอยู่ที่ 379 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ว่าเพิ่มขึ้น 2.7 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ตัวเลขกำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯปรับลดลง 34,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากใกล้เข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น
นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากการที่ช่องทางเดินเรือฮูสตันสามารถกลับมาเปิดดำเนินการเดินเรือได้อีกครั้ง หลังจากที่ปิดทำการต่อเนื่อง 4 วัน จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วจากเรือบรรทุกน้ำมัน โดยช่องทางเดินเรือแห่งนี้เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อกับอ่าวเม็กซิโกซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่ง หลังจากช่องทางเดินเรือปิดส่งผลให้ปริมาณน้ำมันปิโตรเลียมกว่า 1 ใน10 ของสหรัฐฯ ต้องเลื่อนการขนส่งออกไป
ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือน มี.ค.ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 ปีอยู่ที่ 82.3 ซึ่งมากกว่าเดือน ก.พ. ที่ระดับ 78.3 และมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 78.6
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังในเอเชียอยู่ในระดับสูง ประกอบกับอุปสงค์ของน้ำมันเบนซินในภูมิภาคสำหรับเดือนเมษายนยังคงเคลื่อนไหวในระดับคงที่ อย่างไรก็ดีอุปสงค์ของทางเวียดนามยังช่วยหนุนราคาน้ำมันเบนซินได้บ้าง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังจากอุปทานน้ำมันดีเซลในตลาดเริ่มตึงตัวเนื่องจากใกล้เข้าสู่ช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในเอเชีย อย่างไรก็ตามจีนยังคงมีการส่งออกน้ำมันดีเซลอย่างต่อเนื่องโดยตัวเลขการส่งออกน้ำมันดีเซลในเดือนกุมภาพันธ์ปรับเพิ่มขึ้น 36% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ทิศทางราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 96 - 104 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 105-111 เหรียญฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามองสัปดาห์นี้
- จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดในแคว้นไครเมีย ซึ่งล่าสุดเกิดการโจมตีฐานทัพอากาศในยูเครนและมีผู้เสียชีวิต ขณะที่สหรัฐฯ หลังออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม รวมถึง การคว่ำบาตรบริษัทพลังงานแล้ว ยังขู่ว่าจะคว่ำบาตรภาคธุรกิจสำคัญๆ ของรัสเซียอีกหลายแขนงหากรัสเซียทำให้เหตุการณ์ในยูเครนบานปลาย
- ความกังวลของนักลงทุนต่อภาพรวมเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะภาคการผลิตที่มีแนวโน้มแย่ลง รวมถึงการตอบรับต่อข่าวจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อาจมีการยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย โดยตลาดมองว่าอาจกระทบความต้องการใช้น้ำมัน
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันดิบที่ลดลงในช่วงฤดูการปิดซ่อมโรงกลั่น อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่คุชชิ่ง โอคลาโฮมา ยังปรับลดลงต่อเนื่องหลังท่อขนส่งน้ำมันดิบ Key Stone เปิดใช้ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
- จีดีพีไตรมาส 4/2556 สหรัฐฯ (ประกาศครั้งที่ 3) ที่จะประกาศในวันที่ 27 มี.ค. นี้ ซึ่งจะบ่งบอกถึงความต้องการใช้น้ำมันของประเทศผู้ใช้อันดับ 1 ของโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นจาก 2.4% ในการประกาศครั้งก่อนหน้า มาอยู่ที่ 2.7%
ข่าวเด่น