ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
บมจ.ไทยออยล์ชี้ ศก.สหรัฐฯฟื้น เหตุตึงเครียดยูเครน หนุนราคาน้ำมัน


 

 

บมจ.ไทยออยล์ชี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัว กอปรกับความตึงเครียดในยูเครน หนุนราคาน้ำมัน

+  ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคเซึ่งการใช้จ่ายของผู้บริโภคคิดเป็น 2/3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ  เดือน ก.พ.ปรับเพิ่มขึ้น 0.3% มากกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 0.2% อันเป็นผลมาจากการใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นในภาคสาธารณสุข และภาคสาธารณูปโภค แสดงให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่อเค้าฟื้นตัว
 
+ สหรัฐฯและยุโรปแจ้งเจตจำนงชัดเจนว่าจะมีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่เข้มข้นขึ้นต่อรัสเซีย หากรัสเซียยังคงเดินหน้าเข้าแทรกแซงยูเครน  โดยจะมีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมพลังงาน โดยสหรัฐฯ มีแผนการจะขายก๊าซให้กับยุโรป แทนการนำเข้าจากรัสเซียผ่านท่อในยูเครน เพื่อเป็นการลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียให้ยุโรป
 
+ เหตุการณ์การประท้วงในลิเบียที่ยังคงไม่มีทีท่าว่าจะหาข้อยุติได้ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในลิเบียยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายหลังหลุมน้ำมันหลักอย่าง  El Sharara ที่มีกำลังการผลิต 0.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน และหลุมน้ำมัน El Feel ที่มีกำลังการผลิต 0.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมไปถึงท่อขนส่งน้ำมันดิบที่กำลังการขนส่ง 0.03 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะขนส่งน้ำมันดิบจากหลุม Al Wafa ถูกปิดโดยกลุ่มผู้ประท้วงอยู่
 
+ ตัวเลขเศรษกิจยุโรปส่อเค้าฟื้นตัว โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยุโรปปรับตัวดีขึ้นในเดือน มี.ค. มาอยู่ที่ -9.3  จาก   -12.7 ในเดือนก่อนหน้า แสดงให้เห็นถึงมุมมองที่ดีขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และภาวะการจ้างงาน
 
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ อันเป็นผลมาจากโอกาสในการส่งน้ำมันดิบจากอินเดียไปยังสหรัฐฯ ที่มีมากขึ้น ถึงแม้ว่าปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังในสิงคโปร์จะมีปริมาณค่อนข้างสูงก็ตาม
 
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ อันเป็นผลมาจากอุปทานที่ลดลงในตลาด เนื่องจากขณะนี้โรงกลั่นในภูมิภาคกำลังอยู่ในช่วงเทศกาลปิดซ่อมบำรุง รวมไปถึงความต้องการใช้น้ำมันดีเซลจากผู้ซื้อหลักในภูมิภาคอย่างอินโดนีเซียที่ปรับเพิ่มขึ้นในระยะสั้นด้วย
 
ทิศทางราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 96 - 104 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 105-111 เหรียญฯ
 
ปัจจัยที่น่าจับตามองสัปดาห์นี้
- ความไม่แน่นอนของมาตรการณ์คว่ำบาตรรัสเซียโดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปยังคงสร้างความกังวลต่อตลาดน้ำมัน หลังล่าสุดมีข่าวว่าสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปกำลังหารือที่จะยกระดับการคว่ำบาตรรัสเซียให้สูงขึ้น อย่างไรก็ดี บางฝ่ายมองว่าอาจจะยากที่สหภาพยุโรปจะทำได้เพราะปัจจุบันยุโรปพึ่งพาการนำเข้าแก๊สธรรมชาติจากรัสเซียมากถึง 30%
 
- จับตาว่ากำลังผลิตน้ำมันดิบของลิเบียจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งได้เมื่อไร หลังล่าสุดการผลิตปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 150,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ เฝ้าติดตามว่าบริษัทน้ำมัน Shell จะกลับมาส่งออกน้ำมันดิบจากไนจีเรียอีกครั้งเมื่อไหร่ หลังสัปดาห์ที่ผ่านมาประกาศหยุดขายกระทันหันเนื่องจากมีปัญหาการขโมยน้ำมันจากท่อส่งน้ำมัน
 
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันดิบที่ลดลงในช่วงฤดูการปิดซ่อมโรงกลั่น อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่คุชชิ่ง โอคลาโฮมา ยังปรับลดลงต่อเนื่องหลังท่อขนส่งน้ำมันดิบ Key Stone เปิดใช้ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
 
- ติดตามการประชุมธนาคารกลางสหภาพยุโรปในวันที่ 3 เม.ย. นี้ ว่า นายมาริโอ้ ดรากี้ ประธานธนาคารกลางฯ จะมีมุมมองต่อภาพรวมเศรษฐกิจของกลุ่มสหภาพยุโรปอย่างไร ซึ่งอาจกระทบต่อการตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยต่อไปที่ระดับปัจจุบันที่ 0.25%
 
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันศุกร์ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยุโรป - มี.ค.
วันจันทร์ ดัชนีชี้วัดภาคการผลิตของเมืองชิคาโก
วันอังคาร ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ - มี.ค.
                ยอดขายรถยนต์สหรัฐฯ - มี.ค.
                ดัชนีภาคการผลิตจีน (Official) - มี.ค.
               ดัชนีภาคการผลิตจีน (HSBC) - มี.ค.
               ดัชนีภาคการผลิตยุโรป (Markit) - มี.ค.
               อัตราการว่างงานยุโรป
วันพุธ การจ้างงานภาคเอกชน - มี.ค.
             ยอดสั่งซื้อสินค้าโรงงาน - ก.พ.
วันพฤหัสฯ ดัชนีภาคบริการสหรัฐฯ - มี.ค.
                 ดัชนีภาคบริการยุโรป (Markit) - มี.ค.
วันศุกร์ อัตราการว่างงานสหรัฐฯ - มี.ค.
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 มี.ค. 2557 เวลา : 10:38:11

17-06-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ June 17, 2024, 5:30 pm