+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากถ้อยแถลงของประธาน FED ถึงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น พร้อมทั้งส่งสัญญาณที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวตามที่ได้คาดการณ์ไว้ ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ประจำวันที่ 2 พ.ค.57 รายงานโดยสำนักสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ปรับตัวลดลง 1.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 397.6 ล้านบาร์เรล สวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล นอกจากนั้นแล้วปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอคลาโฮมา ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 24 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2551
+ สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น หลังกลุ่มกบฎในประเทศลิเบียออกมาประกาศว่าจะไม่เจรจากับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่จะไม่สามารถเปิดท่าเรือ Ras Lanuf และ Es Sider ที่อยู่ระหว่างการเจรจาได้ โดยมีกำลังการผลิตรวมรองรับถึง 560,000 บาร์เรลต่อวัน ทำให้ปัจจุบันปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 250,000 บาร์เรลต่อวัน
+/- อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบเบรนท์ถูกกดดัน หลังรัสเซียเปิดเผยการเจรจากับองค์กรความมั่นคงของยุโรป ว่าพร้อมที่จะหาทางออกสำหรับปัญหาความขัดแย้งในขณะนี้ ประกอบกับการลงประชามติสำหรับการแบ่งแยกดินแดนเพื่อความเป็นเอกราชของเมืองต่างๆ ในทางตะวันออกของยูเครน ที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 พ.ค. 57 ได้มีการถูกเลื่อนออกไป หลังสหรัฐฯ และนานาชาติ ออกมาคัดค้านการกระทำดังกล่าว นอกจากนั้นแล้วสหภาพยุโรปยังผ่านร่างความตกลงเบื้องต้นสำหรับมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อรัสเซีย และจะพิจารณาอีกครั้งในวันจันทร์หน้าหากรัสเซียยังคงมาตรการแทรกแซงยูเครนต่อไป
+ กลุ่มติดอาวุธในเยเมนเข้าโจมตีท่อขนส่งน้ำมัน กำลังการผลิต 110,000 บาร์เรลต่อวัน และสายส่งไฟฟ้า ทำให้เยเมนต้องหยุดขนส่งน้ำมันดิบลงชั่วคราวและเกิดไฟฟ้าดับทางตอนเหนือของประเทศ
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากความต้องการนำเข้าจากผู้นำเข้าหลักอาทิเช่น อินโดนีเซีย, เวียดนาม และมาเลเซีย ที่น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินโดนีเซียที่คาดว่าจะนำเข้าน้ำมันเบนซินสำหรับเดือน มิ.ย. 57 ประมาณ 8.7 ล้านตัน ต่ำกว่าเดือน มิ.ย. ของปีก่อนหน้าที่ระดับ 10.4-10.6 ล้านตัน
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังถูกกดดันจากปริมาณสต๊อกน้ำมันดีเซลคงคลังในภูมิภาคที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับการส่งออกน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นของประเทศจีนหลังเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลง นอกจากนั้นแล้วคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในจีนจะลดลงกว่า 2 ล้านบาร์เรลในช่วงห้ามจับสัตว์น้ำทางตอนใต้ของจีนตั้งแต่ช่วง พ.ค. ถึง ก.ค. 57
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 98-105 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 105-111 เหรียญฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
-จับตาปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังมีการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมที่โรงกลั่นบางแห่งจะเสร็จสิ้นการปิดซ่อมบำรุงในช่วงปลายเดือน เม.ย.
-การปิดซ่อมบำรุงแหล่งผลิตน้ำมันดิบในทะเลเหนือระหว่าง 25 เม.ย. -15 พ.ค. คาดว่าจะทำให้ปริมาณน้ำมันดิบจากทะเลเหนือเดือน พ.ค. ลดลงราว 200,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือน เม.ย.
-การส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้ตลาดคลายความกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัวลง โดยล่าสุดลิเบียส่งออกน้ำมันจากท่าเรือ Zueitina ได้แล้ว และตลาดคาดการส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียจะเพิ่มขึ้นจาก 230,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 350,000 – 400,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงปลายเดือนนี้
-สถานการณ์ยูเครน – รัสเซียยังคงเป็นที่น่าจับตามอง หลังสหรัฐฯ และยุโรปออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม ขณะที่การปะทะกันของทหารยูเครนและกลุ่มกบฎฝักใฝ่รัสเซียยังร้อนแรง และรัสเซียยังประกาศกร้าวว่าจะตอบโต้อย่างจริงจัง
-รายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน พ.ค. ของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ในวันที่ 6 พ.ค. ติดตามว่าจะมีการปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกในปีนี้ลงหรือไม่หลังหลายฝ่ายกังวลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก
-ติดตามการประชุมธนาคารกลางสหภาพยุโรป ในวันที่ 8 พ.ค. นี้ ว่านายมาริโอ้ ดรากี้ ประธานธนาคารฯ จะมีมาตรการใดมาช่วยให้กลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโรหลีกเลี่ยงภาวะเงินฝืด และช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจกลุ่มหรือไม่
ข่าวเด่น