นางอัมพวัน พิชาลัย ที่ปรึกษาการพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศ หรือเงินเฟ้อ เดือนพ.ค.2557 เท่ากับ 107.90 เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.2557 สูงขึ้น 0.40% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.2556 สูงขึ้น 2.62% ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 14 เดือน นับจากเดือนมี.ค.2556 และเมื่อเทียบเฉลี่ย 5 เดือนของปี 2557 (ม.ค.-พ.ค.) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สูงขึ้น 2.21%
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) อยู่ที่ 104.78 เพิ่มขึ้น 1.75% จากเดือน พ.ค.56 และเพิ่มขึ้น 0.13% จาก เม.ย. 57 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 5 เดือนแรก(ม.ค.-พ.ค.) เพิ่มขึ้น 1.40%
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนพ.ค.สูงขึ้น เนื่องจากการสูงขึ้นของสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 4.39% โดยสินค้าสำคัญที่สูงขึ้น เช่น ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้น 1.63% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 8.03% ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้น 2.34% เครื่องประกอบอาหารสูงขึ้น 5.22% อาหารสำเร็จรูป สูงขึ้น 5.34%
ส่วนสินค้าหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 1.68% สินค้าสำคัญที่สูงขึ้น เช่น เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้น 0.73% เคหสถาน สูงขึ้น 1.73% การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้น 0.73% พาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร สูงขึ้น 1.93% บันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนา สูงขึ้น 0.72% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 6.22%
นางอัมพวัน กล่าวว่า การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท จะช่วยให้เงินเฟ้อไม่เพิ่มขึ้น 0.46% และการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม มีผลทำให้เงินเฟ้อไม่เพิ่มขึ้น 0.03%
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีน่าจะอยู่ที่ระดับ 2.25% ครึ่งปีหลังอยู่ที่ 2.4-2.6% โดยต้องประเมินแนวโน้มราคาสินค้า ราคาพลังงาน และค่าเงินบาท โดยเฉพาะเงินบาทต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะอ่อนค่าลงมาก เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่เงินเฟ้อทั้งปียังอยู่ในเป้าที่ตั้งไว้ 2-2.8% คาดว่าน่าจะไม่เกิน 2.6%
ข่าวเด่น