โครงสร้างทางภาษีจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ดังโครงสร้างการเก็บภาษีเงินได้บุคคล และนิติบุคคลแบบขั้นบันได ใครมีรายได้มากก็จ่ายมาก ใครมีน้อยก็จ่ายน้อยหรือได้รับการยกเว้น
รัฐบาลที่ผ่านๆมาเคยมีแนวความคิดจะออกกฎหมายภาษีมรดก ภาษีที่ดิน แต่ก็มีแค่แนวความคิด ไม่มีผลทางปฏิบัติเพราะกลุ่มทุนมักมีอิทธิพลเหนือนักการเมืองเสมอมา
รัฐบาลจึงปล่อยให้มีนายทุนที่ครอบครองที่ดินคนละเป็นหมื่นเป็นแสนไร่ได้ โดยไม่มีการเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า โดยเฉพาะที่ดินที่ถือครองไว้โดยไม่ได้ทำประโยชน์ ควรมีการเก็บภาษีให้สูงมากๆ เพื่อจำกัดการถือครองที่ดินเพราะที่ดินไม่สามารถงอกใหม่ได้ ในขณะที่ประชากรเพิ่มขึ้นทุกปี
การถือครองที่ดินมากเกินไป ในขณะที่ยังมีประชาชนจำนวนมากที่ไร้ที่ดินทำกิน จึงเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง รวมทั้งเกิดปัญหาที่ชาวบ้านบุกรุกที่ดินป่าสงวนเพื่อแสวงหาที่ทำกิน ฯลฯ
รัฐบาลส่วนใหญ่มักอุ้มคนรวยเสมอเพราะมีกำลังต่อรองสูงกว่าประชาชนทั่วไป มิเช่นนั้นก็เพราะมีเครือข่ายของตนเองเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เสียเอง ดังจะเห็นได้ว่ารัฐบาลก่อนก็อุ้มธุรกิจขนาดใหญ่ด้วยการลดสัดส่วนขั้นสูงสุดการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เป็น 23% และปัจจุบันเหลือเพียง20% ซึ่งไม่ใช่นโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
บริษัทขนาดใหญ่ยังได้รับการอุ้มชูจากรัฐด้วยการให้ BOI เพื่อลดหย่อนภาษีอีกด้วย ทั้งที่มีกำลังจะช่วยแบ่งเบาภาระให้สังคมได้ ตัวอย่างบริษัทปิโตรเคมีขนาดใหญ่ที่เป็นการควบรวมกิจการของบริษัทเก่า แต่รัฐก็ยังให้ BOI ที่ไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล100% เป็นเวลา8ปี และหลังจาก8ปี ก็ยังได้รับการลดหย่อนภาษี50% เป็นเวลาอีก5ปี ทั้งที่ธุรกิจใหญ่โตที่มีกำลังในการจ่ายภาษี แต่กลับได้รับการอุ้มชูจากรัฐบาลในทุกสมัย ยิ่งกว่านั้นยังเป็นกิจการที่ไม่ต้องจ่ายภาษีทุกชนิดตั้งแต่ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล ทั้งที่เป็นอุตสาหกรรมก่อมลภาวะ และสร้างขยะพลาสติกมหาศาล แต่กลับไม่ต้องร่วมรับผิดชอบในการดูแลสังคมเอาเลย
แม้รัฐบาลก่อนจะมีแนวความคิดที่จะเพิ่มการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ก็ยังไม่กล้าประกาศดำเนินการ
การที่คสช.ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขให้มีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากกลุ่มทุนและกลุ่มผู้มีอันจะกินในสังคมนี้เสียก่อนที่จะมาประกาศขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก7%เป็น 9% ตั้งแต่วันที่1ตุลาคม 2558 เป็นต้นไปนั้น จึงเป็นเรื่องที่สวนทางจากแนวทางที่จะลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมตามที่ประกาศไว้หรือไม่?
ภาษีมูลค่าเพิ่มไม่มีกลไกลดความเหลื่อมล้ำ คนจนหรือคนรวยซื้อสินค้าชิ้นหนึ่ง ก็จ่ายภาษีเท่ากัน
การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงเป็นการกระจายภาระลงไปที่คนจน ซึ่งมีฐานกว้างกว่า รัฐได้ภาษีเพิ่มขึ้นง่ายกว่าเพราะแม้ว่าคนจนมีจำนวนมากกว่า แต่ก็เป็นกลุ่มที่ไร้อำนาจต่อรองไม่เหมือนกลุ่มทุน กลุ่มคนร่ำรวยในสังคมที่เสียงดังกว่าเสมอ
การเก็บเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยยังคงการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ20% และไม่มีการออกกฎหมายเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า และภาษีมรดกจึงเป็นนโยบายที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนคนหาเช้ากินค่ำ ที่ปัจจุบันก็รับภาระหนักอึ้งจากค่าครองชีพ และราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นโดยมีแนวโน้มที่คสช.จะทำตามข้อเสนอของกลุ่มทุนพลังงานที่เรียกร้องให้ปรับขึ้นราคาดีเซล ก๊าซ LPG และ NGVให้เป็นรายการคืนความสุขอันดับต่อไป หรือไม่?
ตรงกันข้าม การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มอาจจะมีผลให้จัดเก็บภาษีได้น้อยลง เพราะกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนลดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้เพราะการบริโภคภายในประเทศเป็นตัวสร้างGDP ของประเทศถึง 55%ในขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนทั้งหมดสร้างGDP
เพียง22% เท่านั้น
น่าเสียดายที่ วาทกรรมการคืนความสุข และสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ อาจจะถูกมองจากประชาชนได้ว่าเป็นเพียงสโลแกนกลวงๆ ที่ไม่ต่างจากคำหวานที่ทุกรัฐบาลมักหาเสียง และให้สัญญาแบบลมๆแล้งๆกับประชาชนกระมัง?
ข่าวเด่น