นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ตามที่มีรายงานข่าวการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบล่า ในประเทศทวีปแอฟริกา คือกินีไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และไนจีเรีย โดยองค์การอนามัยโลก สรุปยอดผู้ป่วย ณ วันที่ 4 ส.ค.2557 พบผู้ป่วย 1,603 ราย เสียชีวิตแล้ว 887 ราย ซึ่งปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีวัคซีน หรือยารักษาเฉพาะ กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบล่าอย่างใกล้ชิด โดยประเมินการติดเชื้อว่าประเทศไทยขณะนี้มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาต่ำแต่ไม่ประมาท จึงจัดระบบเฝ้าระวังโรคและเตรียมความพร้อมในการวินิจฉัยและดูแลผู้ป่วย โดยใช้ระบบการเฝ้าระวังและการคัดกรองผู้ป่วย รวมทั้งเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง เบื้องต้นป้องกันที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง ทั้ง 4 ประเทศ พร้อมทั้งตั้งด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศร่วมมือกับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินนานาชาติทั้ง 5 แห่ง คือ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินหาดใหญ่ สนามบินภูเก็ต และสนามบินเชียงใหม่ นอกจากนี้ ได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่งทำการเฝ้าระวังโรค โดยเอาใจใส่ค้นหา และรายงานผู้ป่วยที่มีอาการสงสัย โดยเฉพาะผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ รวมถึงเตรียมความพร้อมมาตรการดูแลรักษาหากมีผู้ป่วยมีอาการสงสัยโดยใช้มาตรการเดียวกับการดูแลผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายสูง โดยสำนักระบาดวิทยา ได้ติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด โดยประสานงานกับองค์การอนามัยโลก และเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคระหว่างประเทศ ขณะที่กรมวิทยาศาสตร์การเพทย์ เตรียมความพร้อมในการตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการ โดยประสานอย่างใกล้ชิดกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการในประเทศ และความร่วมมือกับหน่วยงานในต่างประเทศ เพื่อตรวจวิเคราะห์การติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ นพ.โสภณ กล่าวว่า โรคติดเชื้อไวรัสอีโบล่า เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัสที่มีความรุนแรง ติดต่อโดยการสัมผัสกับเลือด หรือของเหลวจากร่างกาย โดยมีระยะฟักตัวของเชื้อ 2-21 วัน ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างรวดเร็ว อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ และปวดศีรษะมาก ตามด้วยอาการเจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงขึ้นตามตัว และในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการเลือดออกง่ายอวัยวะหลายระบบเสื่อมหน้าที่ และเสียชีวิต
ข่าวเด่น