ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 16 เดือน หลังจากมีความหวังว่ารัสเซียและยูเครนจะสามารถบรรลุข้อตกลงที่ประธานาธิบดีของรัสเซีย นายวลาดิมีร์ ปูติน ได้เสนอแผนการยุติการสู้รบแบ่งแยกดินแดนในฝั่งตะวันออกของยูเครนที่ยืดเยื้อมานานกว่า 4 เดือนได้ แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องรอข้อสรุปว่าชาวยูเครนและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนจะสามารถบรรลุข้อตกลงยุติการสู้รบที่จะมีการเจรจาที่กรุงมินสก์ เมืองหลวงของเบลารุส ในวันศุกร์นี้ต่อไป
+ ยอดคำสั่งซื้อของโรงงานสหรัฐฯ เดือน ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 8.5 ปี มาอยู่ที่ระดับ 10.5% ซึ่งใกล้เคียงที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 11.0% เนื่องจากมีความต้องการทางด้านเครื่องบินและรถยนต์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีการปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้น
+/- รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ส.ค. 57 ของสถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ(API) พบว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังปรับลดลง 545,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 361 ล้านบาร์เรล โดยปรับลดลงน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1.1 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นต่างๆ ลดกำลังการผลิตลง ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอคลาโฮมา ปรับลดลง 108,000 บาร์เรล สำหรับปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังปรับเพิ่มขึ้น 362,000 บาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 1.3 ล้านบาร์เรล เช่นเดียวกับน้ำมันดีเซลคงคลังปรับเพิ่มขึ้น 385,000 บาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 500,000 บาร์เรล
+ ดัชนีภาคการบริการจีน เดือน ส.ค. ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 54.0 ซึ่งมากกว่าเดือน ก.ค. ที่ระดับ 50.0 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตของการขยายธุรกิจใหม่ทั้งทางด้านผู้ผลิตและผู้ให้บริการ แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องจับตามองเศรษฐกิจของจีนอยู่เนื่องจากนักเศรษฐศาสตร์จาก HSBC ยังคงกังวลว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีอุปทานจากญี่ปุ่นลดลงจากการลดกำลังการผลิตลง แต่อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันเบนซินยังคงถูกกดดันจากปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซินจากอินเดียและจีน ประกอบกับปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังของญี่ปุ่นปรับเพิ่มมากขึ้น
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่ากับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังในภูมิภาคปรับสูงขึ้น และยังไม่มีโอกาสส่งออกน้ำมันดีเซลไปยังทางทวีปยุโรปได้ ประกอบกับมีอุปสงค์ที่น้อยลงจากอินเดียเนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูมรสุม
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 92-98 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 100 - 105 เหรียญฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
-ติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ล่าสุดการเจรจาแผนหยุดยิงกับกลุ่มกบฏฝักใฝ่รัสเซีย ในบริเวณตะวันออกของประเทศโดยประธานาธิบดีเปโร โปโรเซนโกของยูเครน ที่ยังไม่แน่นอนว่าจะออกมาในทิศทางใด
-ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ จะยังปรับลดลงเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้เนื่องจากกำลังการกลั่นของโรงกลั่นในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวลดลงหลังสิ้นสุดเทศกาลท่องเที่ยวหน้าร้อน
-การประชุมธนาคารกลางสหภาพยุโรป (อีซีบี) และการประกาศอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ของอีซีบี ในวันที่ 4 ก.ย. นี้ หลังค่าเงินยูโรอ่อนตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน ส่งผลให้นายมาริโอ้ ดรากี้ ประธานธนาคารกลางฯ ประกาศว่าอีซีบีพร้อมจะใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนให้ฟื้นตัว
-การผลิตและส่งออกน้ำมันดิบลิเบียมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดปรับเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าจากช่วง 2-3 เดือนที่แล้ว มาอยู่ที่ระดับ 700,000 บาร์เรลต่อวันในสัปดาห์นี้
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันจันทร์ดัชนีภาคการผลิตยุโรป - ส.ค. 57
วันอังคารดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ - ส.ค. 57
ตัวเลขการใช้จ่ายภาคการก่อสร้าง - ก.ค. 57
ดัชนีราคาผู้ผลิต - ก.ค. 57
วันพุธยอดคำสั่งซื้อของโรงงานสหรัฐฯ - ก.ค. 57
ดัชนีภาคการบริการยุโรป - ส.ค. 57
ยอดขายปลีกยุโรป - ก.ค. 57
ดัชนีภาคการบริการจีน - ส.ค. 57
วันพฤหัสการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ - ส.ค. 57
ดัชนีภาคการบริการสหรัฐฯ - ส.ค. 57
อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์อีซีบี - ก.ย. 57
วันศุกร์ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ - ส.ค. 57
อัตราการว่างงานสหรัฐฯ - ส.ค. 57
จีดีพีไตรมาส 2/57 ยุโรป
ข่าวเด่น