ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์วิเคราะห์ราคาน้ำมันดิบลง หลังอีซีบีลดดอกเบี้ยเหนือความคาดหมาย สะท้อนถึงเศรษฐกิจยุโรปที่ยังไม่ฟื้นตัว


-ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง  หลังธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ (ดอกเบี้ยพื้นฐานที่อีซีบีเรียกเก็บจากเงินกู้ที่ปล่อยให้แก่สถาบันการเงิน) ลงสู่ระดับ 0.05% จากระดับเดิมที่ 0.15% ในการประชุมเมื่อวานนี้ เนื่องจากต้องการที่จะกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรป และป้องกันภาวะเงินฝืด นอกจากนี้ธนาคารกลางยุโรปยังได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงสู่ระดับ - 0.20% จากระดับ - 0.10%  เพื่อผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ สืบเนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อของยุโรปที่อ่อนตัวลงมาก โดยธนาคารกลางยุโรปมีแผนการที่จะซื้อตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (asset-backed securities) และตราสารหนี้ที่ค้ำประกันด้วยสินเชื่อคุณภาพ (covered bonds) จากภาคเอกชน เพื่อกระตุ้นการกู้ยืมในยุโรป และมีความเป็นไปได้ที่จะใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE ในอนาคต  ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบที่ใช้สกุลเงินดอลลาร์ เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับยูโร ทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในตลาดปิวรรตเงินตรามากขึ้น

 
- นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังถูกกดดันจากข้อมูลแรงงานที่ซบเซาของสหรัฐฯ  หลังตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานปรับเพิ่มขึ้น 4,000 ราย สู่ระดับ 302,000 ราย ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 300,000 ราย ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐฯ ในเดือน ส.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 204,000 ตำแหน่ง ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 223,000 ตำแหน่ง และน้อยกว่าในเดือน ก.ค. ที่เพิ่มขึ้น 218,000 ตำแหน่ง
 
+ อย่างไรก็ตาม รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ส.ค. 57 ของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ(EIA) พบว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังปรับลดลง 905,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 359.6 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันเริ่มเตรียมเข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุงในเดือน ต.ค. ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอคลาโฮมา ปรับลดลง 385,000 บาร์เรล สำหรับปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังปรับลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล ส่วนน้ำมันดีเซลคงคลังปรับเพิ่มขึ้น 605,000 บาร์เรล
 
+ ดัชนีภาคบริการของสหรัฐ ฯ ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 59.6 ในเดือน ส.ค. ซึ่งมากกว่าเดือน ก.ค. ที่ระดับ 58.7 และสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงอยู่ที่ระดับ 57.5 ซึ่งตัวเลขที่อยู่ในระดับสูงเช่นนี้ สะท้อนถึงกิจกรรมภาคบริการของสหรัฐฯ ที่ขยายตัวดีขึ้น อันเป็นผลมาจากทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีขึ้นด้วย
 
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากตลาดกังวลเกี่ยวกับอุปทานในสหรัฐฯ หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่โรงกลั่นน้ำมัน BP ในรัฐอินดีแอนาเมื่อสัปดาห์ก่อน นอกจากนี้อุปสงค์จากประเทศเวียดนามยังช่วยหนุนราคาฝั่งเอเชียให้ปรับตัวดีขึ้นด้วย
 
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีอุปสงค์น้ำมันดีเซลสำหรับเดือน ต.ค. จากประเทศเวียดนามที่ช่วยหนุนราคาน้ำมันดีเซลในระยะนี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังถูกกดดันจากอุปทานในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลางที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
 
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 92-98 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 100 - 105 เหรียญฯ
 
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
-ติดตามเศรษฐกิจฝั่งยูโรโซน ภายหลังอีซีบีออกมาตรการเพิ่มเติมในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว มาตรการนี้จะทำให้เศรษฐกิจยุโรปเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพหรือไม่ และอุปสงค์การใช้น้ำมันในภูมิภาคจะกลับมาหรือไม่ 
 
-จับตาสถานการณ์ระหว่างยูเครนและรัสเซีย ว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงหยุดยิงได้จริงหรือไม่ ภายหลังทำเนียบประธานาธิบดียูเครนออกแถลงการณ์บนเว็บไซต์ว่า ผู้นำทั้งสองประเทศได้หารือร่วมกันและบรรลุข้อตกลงหยุดยิงถาวรแล้ว แต่ฝ่ายรัสเซียออกมาคัดค้านว่ารัสเซียไม่สามารถทำข้อตกลงหยุดยิงอย่างเป็นรูปธรรมได้ เพราะรัสเซียไม่ได้เป็นฝ่ายที่มีส่วนในความขัดแย้งครั้งนี้แต่อย่างใด หากข้อตกลงบรรลุผล มาตรการคว่ำบาตรระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก อาจคลี่คลายลง และจะส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจของทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง
 
-ติดตามรายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน ก.ย. ของสำนักสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (9 ก.ย.) โอเปก (10 ก.ย.) และสำนักงานพลังงานสากล (11 ก.ย.)  ที่คาดว่าอาจมีการปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกปีนี้ลง หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศผู้บริโภคน้ำมันหลายประเทศ
 
-จับตากลุ่ม OPEC ว่าจะมีมาตรการอย่างไรในการจัดการกับอุปทานน้ำมันดิบที่มีอยู่จำนวนมากในตลาด หลังลิเบียสามารถผลิตน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะยังมีเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศ โดยล่าสุดปรับเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 700,000 บาร์เรลต่อวันในสัปดาห์ที่ผ่านมา 
 
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันพฤหัสการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ - ส.ค. 57
ดัชนีภาคการบริการสหรัฐฯ - ส.ค. 57
อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์อีซีบี - ก.ย. 57
วันศุกร์ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ - ส.ค. 57
อัตราการว่างงานสหรัฐฯ - ส.ค. 57
จีดีพีไตรมาส 2/57 ยุโรป
วันจันทร์ดุลการค้าจีน - ส.ค. 57
วันพุธยอดสินค้าคงคลังของผู้ขายส่งสหรัฐฯ - ก.ค. 57
วันพฤหัสดัชนีราคาผู้ผลิตจีน - ส.ค. 57
ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน - ส.ค. 57
วันศุกร์ยอดขายปลีกสหรัฐฯ - ส.ค. 57
การผลิตภาคอุตสาหกรรมยุโรป - ก.ค. 57
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ก.ย. 2557 เวลา : 13:02:11

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 4:14 am