ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือน หลังจากโอเปกออกรายงานกำลังการผลิตประจำเดือน ส.ค. ว่ามีกำลังการผลิตและปริมาณน้ำมันดิบส่งออกเพิ่มมากขึ้นแตะระดับ 30.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อชดเชยปริมาณน้ำมันดิบที่ลิเบียไม่สามารถส่งออกได้ ถึงแม้ว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียจะลดลง 55,000 บาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ระดับ 29.20 ล้านบาร์เรลต่อวันแล้วก็ตาม
- รวมถึงโอเปกประกาศลดปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบในปี 57 ลง 50,000 บาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าปริมาณความต้องการน้ำมันดิบปี 58 จะมีอัตราการเติบโตแค่ 20,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งคาดการณ์ว่าถ้าโอเปกยังคงรักษาระดับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบไว้เหมือนปี 57 จะมีปริมาณน้ำมันดิบมากกว่าความต้องการถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 58
- นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันหลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ก.ย. 57 ปรับลดลง 1 ล้านบาร์เรล ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 1.1 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอคลาโฮมา ปรับเพิ่มขึ้น 78,000 บาร์เรล สำหรับปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังปรับเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 157.000 บาร์เรล ส่วนปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังปรับเพิ่มขึ้น 4.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 571,000 บาร์เรล
- ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียปรับเพิ่มมากขึ้นโดยมีปริมาณมากกว่า 800,000 บาร์เรลต่อวันถึงแม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองของลิเบียยังคงไม่สู้ดีนัก นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีของลิเบียออกมาให้สัมภาษณ์ว่าลิเบียจะสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้ถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนหน้า
- ค่าเงินดอลล่าร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ เนื่องจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในปีหน้า
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีอุปสงค์จากทางด้านยุโรปและตะวันออกกลางโดยเฉพาะอาบูดาบี ขณะที่อุปทานมีไม่มากนัก เหตุจากโรงกลั่นต่างๆ ปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาล
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการในช่วงการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นของอินโดนีเซีย ไต้หวัน และมาเลเซียในช่วงเดือน ก.ย. นี้ อย่างไรก็ตามตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่มีมากกว่าความต้องการที่เพิ่มขึ้น
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 90-95 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 98 - 103 เหรียญฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
-จับตาสถานการณ์ระหว่างยูเครนและรัสเซีย ว่าข้อตกลงหยุดยิงจะประสบผลสำเร็จจริงหรือไม่ แม้ผู้นำทั้งสองประเทศได้บรรลุข้อตกลงหยุดยิงถาวรร่วมกันแล้วก็ตาม แต่ฝ่ายรัสเซียยีงคงออกมาค้านว่ารัสเซียไม่สามารถทำข้อตกลงหยุดยิงอย่างเป็นรูปธรรมได้ เพราะรัสเซียไม่ได้เป็นฝ่ายที่มีส่วนในความขัดแย้งครั้งนี้
-ติดตามเศรษฐกิจฝั่งยูโรโซน ภายหลังอีซีบีออกมาตรการเพิ่มเติมในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว มาตรการนี้จะทำให้เศรษฐกิจยุโรปเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพหรือไม่ และอุปสงค์การใช้น้ำมันในภูมิภาคจะกลับมามากเพียงใด
-ติดตามรายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน ก.ย. ของสำนักสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (9 ก.ย.) โอเปก (10 ก.ย.) และสำนักงานพลังงานสากล (11 ก.ย.) ที่คาดว่าอาจมีการปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกปีนี้ลง หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศผู้บริโภคน้ำมันหลายประเทศ
-จับตากลุ่ม OPEC ว่าจะมีมาตรการอย่างไรในการจัดการกับอุปทานที่ล้นตลาดขณะนี้ หลังล่าสุดลิเบียผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ราว740,000 บาร์เรลต่อวันแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าจะยังมีเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศก็ตาม
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันศุกร์ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ - ส.ค. 57
อัตราการว่างงานสหรัฐฯ - ส.ค. 57
จีดีพีไตรมาส 2/57 ยุโรป
วันจันทร์ดุลการค้าจีน - ส.ค. 57
วันพุธยอดสินค้าคงคลังของผู้ขายส่งสหรัฐฯ - ก.ค. 57
วันพฤหัสดัชนีราคาผู้ผลิตจีน - ส.ค. 57
ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน - ส.ค. 57
วันศุกร์ยอดขายปลีกสหรัฐฯ - ส.ค. 57
การผลิตภาคอุตสาหกรรมยุโรป - ก.ค. 57
วันเสาร์ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน - ส.ค. 57
ยอดขายปลีกจีน - ส.ค. 57
ข่าวเด่น