ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์วิเคราะห์น้ำมันดิบทรุดจากแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และอุปทานน้ำมันล้นตลาด


 - ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับตัวลดลงจากเมื่อวานถึง 3.41 เหรียญต่อบาร์เรล โดยเป็นการปรับตัวลดลงอย่างมากนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 55 สาเหตุจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้งยังถูกกดดันจากราคาน้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ ลดต่ำลง ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และแตะระดับต่ำที่สุดนับจากปี 55 ที่ 94.67 เหรียญต่อบาร์เรล  โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ยังถูกกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นจากตะวันออกกลางและการคลายความกังวลจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ

 
 - จากรายงานของ Reuter's OPEC survey แสดงถึงการเพิ่มขึ้นของอุปทานน้ำมันดิบจากกลุ่มผู้ผลิตในเดือนก.ย.ที่สูงที่สุดในรอบสองปี จากการกลับมาผลิตน้ำมันของประเทศลิเบีย และการผลิตที่มากขึ้นของซาอุดิอาระเบีย และกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง  โดยที่ลิเบียและอิรักคาดการณ์ว่าจะผลิตน้ำมันดิบมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะยังคงมีความไม่สงบในประเทศก็ตาม ทำให้ตลาดมีความกังวลเกี่ยวปริมาณน้ำมันที่มากเกินความต้องการ นอกจากนี้ทางด้านโอเปคก็ยังไม่มีการประกาศว่าจะลดกำลังการผลิตในกลุ่มโอเปคอีกด้วยเช่นกัน
 
+/- ดัชนีภาคการผลิตจีน ในเดือน ก.ย.57  คงที่จากเดือนส.ค. มีผลมาจากเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว ทำให้กิจกรรมการผลิตในจีน ขยายตัวขึ้นอย่างไม่มากนัก เห็นได้จากตลาดการจ้างงานที่ยังคงไม่สู้ดีนัก
 
- นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ในเดือนก.ย. 57 ปรับตัวลดลง อยู่ที่ 86.5  จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 92.4 จุด สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 92.5 จุด
 
- จากสถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 463,000 บาร์เรล ขณะที่น้ำมันเบนซินคงคลังปรับลดลง 2.5 ล้านบาร์เรล และปริมาณน้ำมันดีเซลมีการปรับลดลง 1.8 ล้านบาร์เรล
 
 ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานของน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมัน รวมไปถึงอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากวันหยุดยาวของจีน
 
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ  อย่างไรก็ตามยังคงมีอุปทานจำนวณมากจากตะวันออกกลาง อินเดีย และจีน กดดันไม่ให้ราคาสูงมากนัก
 
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 90-96 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 94-100 เหรียญฯ
 
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง หลังกลุ่ม IS ยังคงเดินหน้าบุกเข้าโจมตีซีเรียและอิรักอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรเริ่มโจมตีกลุ่ม IS ทำให้ตลาดมีความกังวลว่าสถานการณ์อาจบานปลายและส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบในตะวันออกกลาง 
 
การประชุมอีซีบีในวันที่ 2 ต.ค. นี้ ซึ่งตลาดคาดว่าอีซีบีจะออกมาตรการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจยุโรปเพิ่มเติม แม้การประชุมในเดือน ก.ย. จะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 0.05% ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสู่ระดับ -0.20% และมีมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบผ่านการซื้อสินทรัพย์แล้วก็ตาม แต่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างๆ ยังออกมาไม่ดีนัก
 
ท่าทีของกลุ่ม OPEC ในการจัดการกับอุปทานน้ำมันดิบที่ล้นตลาดขณะนี้ว่าจะออกมาในทิศทางใด หลังลิเบียกลับมาผลิตน้ำมันดิบได้ถึง 925,000 บาร์เรลต่อวัน  ทั้งยังมีกระแสข่าวออกมาว่า OPEC วางแผนปรับลดกำลังการผลิตสำหรับปี 2558 ลง 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 29.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน 
 
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันจันทร์รายได้ส่วนบุคคลสหรัฐฯ - ส.ค. 57
วันอังคารดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ - ก.ย. 57
อัตราเงินเฟ้อยุโรป - ก.ย. 57
อัตราการว่างงานยุโรป - ส.ค. 57
วันพุธการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ - ก.ย. 57
ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ - ก.ย. 57
ดัชนีภาคการผลิตจีน - ก.ย. 57
วันพฤหัสอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ของอีซีบี
วันศุกร์ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ - ก.ย. 57
อัตราการว่างงานยุโรป - ก.ย. 57
ดัชนีภาคการบริการ - ก.ย. 57
 

 


บันทึกโดย : วันที่ : 01 ต.ค. 2557 เวลา : 14:12:20

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 6:18 pm