- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ภายหลังซาอุดิอาระเบียประกาศลดราคาขายน้ำมันดิบ (OSPs) ที่จะขายมายังตลาดเอเซียในเดือน พ.ย. เพื่อแข่งขันกับอิรักและอิหร่านในการครองตำแหน่งผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก ท่ามกลางอุปทานน้ำมันดิบที่ยังคงล้นตลาด ประกอบกับเศรษฐกิจของจีนและยุโรปที่ยังคงซบเซา
+ อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ลดลงเกินคาดยังคงเป็นปัจจัยช่วยหนุนราคาไว้ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐ (EIA) เปิดเผยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ในรอบสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ก.ย. ปรับตัวลดลงสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยลดลง 1.4 ล้านบาร์เรล แตะ 356.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 700,000 บาร์เรล สำหรับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่เมืองคุชชิ่ง รัฐโอคลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมันดิบ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 315,000 บาร์เรล สู่ระดับ 20.5 ล้านบาร์เรล
- ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงในเดือน ก.ย. แตะระดับ 56.6 เมื่อเทียบกับเดือนส.ค. ที่ระดับ 59.0 ซึ่งเป็นเดือนที่ภาคการผลิตขยายตัวในอัตราที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 54 ซึ่งจะส่งผลต่ออุปสงค์การใช้น้ำมันดิบในสหรัฐฯ
+ ดัชนีภาคการผลิตจีน ในเดือน ก.ย.57 คงที่จากเดือนส.ค. สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งทำให้ตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของจีนที่ยังคงชะลอตัวลงบ้าง
+ อัตราการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 213,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง เนื่องจากการจ้างงานที่แข็งแกร่งในภาคการผลิต
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง อย่างไรก็ตาม อุปทานที่ลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมัน อย่างไรก็ตาม อุปสงค์จากอินโดนีเซียและแอฟริกาตะวันตกยังช่วยหนุนราคาไว้
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานจำนวนมากจากอินเดียและตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตามตลาดคาดว่าการปิดซ่อมบำรุงในช่วงเดือน ต.ค. ของโรงกลั่นน้ำมันใน สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ อาจช่วยหนุนราคาให้ปรับลดลงไม่มากนัก
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 90-96 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 94-100 เหรียญฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง หลังกลุ่ม IS ยังคงเดินหน้าบุกเข้าโจมตีซีเรียและอิรักอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรเริ่มโจมตีกลุ่ม IS ทำให้ตลาดมีความกังวลว่าสถานการณ์อาจบานปลายและส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบในตะวันออกกลาง
การประชุมอีซีบีในวันที่ 2 ต.ค. นี้ ซึ่งตลาดคาดว่าอีซีบีจะออกมาตรการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจยุโรปเพิ่มเติม แม้การประชุมในเดือน ก.ย. จะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 0.05% ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสู่ระดับ -0.20% และมีมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบผ่านการซื้อสินทรัพย์แล้วก็ตาม แต่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างๆ ยังออกมาไม่ดีนัก
ท่าทีของกลุ่ม OPEC ในการจัดการกับอุปทานน้ำมันดิบที่ล้นตลาดขณะนี้ว่าจะออกมาในทิศทางใด หลังลิเบียกลับมาผลิตน้ำมันดิบได้ถึง 925,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งยังมีกระแสข่าวออกมาว่า OPEC วางแผนปรับลดกำลังการผลิตสำหรับปี 2558 ลง 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 29.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันจันทร์รายได้ส่วนบุคคลสหรัฐฯ - ส.ค. 57
วันอังคารดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ - ก.ย. 57
อัตราเงินเฟ้อยุโรป - ก.ย. 57
อัตราการว่างงานยุโรป - ส.ค. 57
วันพุธการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ - ก.ย. 57
ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ - ก.ย. 57
ดัชนีภาคการผลิตจีน - ก.ย. 57
วันพฤหัสอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ของอีซีบี
วันศุกร์ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ - ก.ย. 57
อัตราการว่างงานยุโรป - ก.ย. 57
ดัชนีภาคการบริการ - ก.ย. 57
ข่าวเด่น