ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์คาดสัปดาห์นี้อุปทานล้นตลาดกดดันราคาน้ำมัน คาดเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 76-81 เหรียญต่อบาร์เรล


 บมจ.ไทยออยล์ วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดยมองว่า อุปทานล้นตลาดกดดันราคา จับตาท่าทีโอเปกและการกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในสหรัฐฯ  ทั้งนี้ ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 76-81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 82-88 เหรียญสหรัฐฯ

 
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (10 – 14 พ.ย. 57)
ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้คาดว่าจะยังคงผันผวน โดยได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่ล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีแนวโน้มว่าโอเปกจะไม่ปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลง ท่ามกลางการเรียกร้องของเวเนซุเอลาและเอกวาดอร์ ประเทศสมาชิกโอเปกที่มีจุดคุ้มทุนทางงบประมาณ (Fiscal Breakeven Cost) ของราคาน้ำมันดิบ สูงกว่าราคาน้ำมันดิบในตอนนี้ ได้ร่วมมือกันร่างข้อเสนอเพื่อหามาตรการพยุงราคาน้ำมันไว้ อีกทั้งต้องติดตาม รายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน พ.ย. ของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) โอเปกและสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ว่าจะมีการปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบโลกในปีนี้และปีหน้าลงอีกหรือไม่ รวมถึงการเริ่มกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น ทั้งยังอาจทำให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลงด้วย เป็นปัจจัยหนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงไม่มากนัก
 
 
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้: 
•จับตาท่าทีของสมาชิกในกลุ่มโอเปกต่อการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลง โดยล่าสุดมีแนวโน้มว่าโอเปกจะไม่ปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลง ท่ามกลางการเรียกร้องของเวเนซุเอลาและเอกวาดอร์ ประเทศสมาชิกที่มีจุดคุ้มทุนทางงบประมาณ (Fiscal Breakeven Cost) ของราคาน้ำมันดิบ สูงกว่าราคาน้ำมันดิบในตอนนี้ ได้ร่วมมือกันร่างข้อเสนอเพื่อหามาตรการพยุงราคาน้ำมันไว้
 
•รายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน พ.ย. ของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) และ โอเปก ในวันที่ 12 พ.ย. รวมถึงจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ในวันที่ 14 พ.ย. ติดตามว่าจะมีการปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบโลกในปีนี้และปีหน้าลงอีกหรือไม่ หลังหลายฝ่ายยังกังวลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจยุโรปที่ยังคงซบเซา 
 
•การเริ่มกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ อาจส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น และอาจทำให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลงด้วย นอกจากนี้ล่าสุดมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิทางตอนกลางของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลงมากในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมัน
 
•ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายปลีกและความรู้สึกของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีดีพี ไตรมาส 3/57 ดัชนีราคาผู้บริโภคและยอดขายปลีกยุโรป รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิต-ผู้บริโภค ยอดขายปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน  
 
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (3 – 7 พ.ย. 57)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 78.65 เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลงเช่นกัน 2.47 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 83.39 เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับลดลงมาเคลื่อนไหวที่ระดับเฉลี่ย 79 เหรียญสหรัฐฯ 
 
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง โดยได้รับแรงกดดันจากการประกาศลดราคาขายน้ำมันดิบ (OSPs) ที่จะขายไปยังตลาดสหรัฐฯ ในเดือน ธ.ค. ของซาอุดิอาระเบีย เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ ในฐานะประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดในโลก ส่งผลกดดันต่อตลาดน้ำมันสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก นอกจากนี้อุปทานที่ยังคงล้นตลาดและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น ล้วนส่งผลกดดันราคาน้ำมัน อย่างไรก็ดี ความกังวลของตลาดต่อเหตุการณ์ท่อขนส่งน้ำมันระเบิดในซาอุดิอาระเบีย และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด รวมถึงตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น ยังคงส่งแรงหนุนต่อราคาน้ำมันดิบ

บันทึกโดย : วันที่ : 10 พ.ย. 2557 เวลา : 11:34:08

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:48 am