- ราคาน้ำมันดิบทั้งเวสต์เท็กซัสของสหรัฐฯ และน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลงอย่างหนักในวันที่ผ่านมา โดยเป็นการปรับลดลงมามากที่สุดใน 1 วัน นับตั้งแต่ปี 2011 หลังจากกลุ่มโอเปกตัดสินใจคงอัตราการผลิตน้ำมันดิบเอาไว้ในระดับเท่าเดิมที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะลดลงอย่างหนักในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากประเทศนอกกลุ่มโอเปกโดยเฉพาะสหรัฐฯ และอุปสงค์ที่อ่อนแอของเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา
- เหล่าชาติสมาชิกโอเปกในอ่าวเปอร์เซียที่มีฐานะมั่งคั่ง ได้ออกมาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้วว่า พร้อมยอมรับราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำในขณะนี้ได้ โดยนายอาลี อัล-นูไอมี รัฐมนตรีพลังงานซาอุดีอาระเบียได้ออกมาแสดงความคิดเห็น หลังการประชุมหารือของกลุ่มโอเปกที่กินเวลายาวนานถึง 5 ชั่วโมงได้สิ้นสุดลง ว่า เป็นการตัดสินใจที่ยอดเยี่ยมของกลุ่มโอเปกที่ตัดสินใจไม่ปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มลงไป ในขณะที่ นายอาลี ซาเลห์ อัล-โอมาอีร์ รัฐมนตรีน้ำมันคูเวต ได้ออกมาเปิดเผยว่า ทางกลุ่มโอเปกสามารถยอมรับราคาน้ำมันดิบได้ทุกราคาไม่ว่าจะอยู่ในระดับไหนก็ตาม
-/+ ในทางตรงกันข้าม การตัดสินใจคงอัตราการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกในครั้งนี้ก็ได้สร้างความผิดหวังแก่ชาติสมาชิกรายย่อยอย่างเวเนซุเอลาและอิหร่าน ที่ได้กดดันให้ให้ทางกลุ่มโอเปกลดกำลังการผลิตลงมาโดยตลอดเพื่อรักษาความสมดุลและเสถียรภาพในตลาดน้ำมัน ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของงบประมาณในประเทศของชาติสมาชิกรายย่อย ซึ่งจะได้เห็นชัดเจนได้จากท่าทีที่ผิดหวังของ นายราฟาเอล รามิเรซ รัฐมนตรีต่างประเทศของเวเนซุเอลา ที่ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมติที่ประชุมของกลุ่มโอเปกและได้เดินทางออกจากที่ประชุมด้วยอารมณ์ขุ่นมัว
-/+ นักวิเคราะห์น้ำมันได้มองว่า ในระยะสั้นราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวลงไปต่ำกว่าระดับ 70 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะทำให้การผลิตน้ำมันในชั้นหินดินดานในสหรัฐฯสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดน้ำมัน เนื่องมาจากต้นทุนที่สูงมากกว่าการผลิตน้ำมันชนิดอื่นๆ
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากการหยุดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมัน Formosa petrochemical ในไต้หวัน ประกอบกับมีอุปสงค์จากทางตะวันออกกลางและแอฟริกา
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากยังคงมีอุปสงค์จากหลายประเทศในเอเชีย หนุนราคาไว้ ถึงแม้ว่าสต็อกน้ำมันดีเซลในประเทศญี่ปุ่นจะเพิ่มสูงขึ้น จากการผลิตน้ำมันที่มากขึ้นของโรงกลั่นในประเทศญี่ปุ่นก็ตาม
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 68-74 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 70-76 เหรียญฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
- ตลาดจับตาการหาวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของยูโรโซน ในการประชุมครั้งต่อไปของอีซีบีในวันที่ 4 ธ.ค. นี้ ภายหลังข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่อาจแตะระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 52 ส่งผลให้ประธานอีซีบี มีแถลงการณ์ถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการดูแลเงินเฟ้อให้ปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งรองประธานอีซีบียังออกมาย้ำถึงความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มมาตรการ QE ในไตรมาสหน้า
-โรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ยังคงทยอยกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง รวมถึงอากาศที่หนาวเย็นของสหรัฐฯ ส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจหนุนราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น
-ติดตามเศรษฐกิจจีนหลังจากที่ธนาคารกลางของประเทศจีน ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีซึ่งถือเป็นนโยบายการเงินเชิงรุกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาของจีน โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 1 ปีลง 0.4% เหลือ 5.6% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง 0.25% เหลือ 2.75% หากนโยบายดังกล่าวประสบผลสำเร็จ จะส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันจากจีนปรับตัวเพิ่มขึ้น
-จับตาการเลือกตั้งครั้งใหม่ของญี่ปุ่น ว่าจะส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในทิศทางใด หลังนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา และได้กำหนดวันเลือกตั้งใหม่กลางเดือน ธ.ค.ทั้งยังระบุว่าการเลือกตั้งจะสามารถชี้ชะตาผลประชามติต่อ "อาเบะโนมิกส์" (ยุทธศาสตร์กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ) ว่าควรจะดำเนินการต่อหรือยุติลง
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันศุกร์ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซน - พ.ย. 57
อัตราการว่างงานของยูโรโซน - ต.ค. 57
วันเสาร์ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจจีน - ต.ค. 57
วันจันทร์ดัชนีการผลิตจีน - พ.ย. 57
ดัชนีการผลิตสหรัฐ (ISM) - พ.ย. 57
ดัชนีการผลิตสหรัฐ (Markit PMI) - พ.ย. 57
ดัชนีการผลิตยูโรโซน (Markit PMI) -พ.ย. 57
วันพุธตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ - พ.ย.57
ยอดค้าปลีกยูโรโซน - ต.ค. 57
ข่าวเด่น