ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์วิเคราะห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลงหนักสุดในรอบ 5 ปี ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทรุดเช่นกัน


 - ราคาน้ำมันดิบทั้งเวสต์เท็กซัสของสหรัฐฯ ดิ่งหนัก โดยลดลงถึงร้อยละ 10 จากวันที่ 26 พ.ย. 57 (ไม่มีการประกาศราคาน้ำมันดิบ WTI ในวันที่ 27 พ.ย. 56 เนื่องด้วยเป็นวันหยุดขอบคุณพระเจ้า) ซึ่งเหตุการณ์ที่ราคาน้ำมันดิบดิ่งในวันเดียวเคยเกิดขึ้นในเดือน มี.ค. 52  ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ลดลงร้อยละ 3 โดยในราคาลงไปแตะที่  69.78 เหรียญฯ ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 53  

 
- ปัจจัยสำคัญที่ราคาน้ำมันดิบลดลงคือการตัดสินใจคงอัตราการผลิตของกลุ่มโอเปก เพื่อกดดันผู้ผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale) ในสหรัฐฯ โดยผู้ผลิตเหล่านี้จะไม่มีกำไรหากราคาน้ำมันดิบต่ำกว่า 70 เหรียญฯ ซึ่ง Goldman Sachs มองว่าผู้ผลิต shale oil จะลดเงินลงทุนเมื่อราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ 70-75 เหรียญฯ ส่วนกลุ่มโอเปกกล่าวว่าไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบที่มีต้นทุนต่ำสุด 
 
- นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่าราคาน้ำมันดิบอาจปรับตัวลงต่อในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ นายไอกอร์ เซคิน เจ้าหน้าที่รัสเซีย กล่าวว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์อาจแตะที่ระดับ 60 เหรียญฯ หรือต่ำกว่านั้นภายในเดือน มิ.ย. 58 โดย Goldman Sachs มองว่ามีความเป็นได้ที่ราคาเบรนท์จะแตะ 60 เหรียญฯเช่นกัน แต่อาจอยู่ในระดับนี้ในระยะสั้น ส่วน BNP Paribas คาดดเบรนท์และ WTI ในปี 58 จะอยู่ที่ 77 เหรียญฯและ WTI ที่ 70 เหรียญฯ ตามลำดับ  
 
- อัตราเงินเฟ้อของประเทศในกลุ่มยูโรโซนในเดือน พ.ย. ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3 หลังราคาพลังงานปรับลดลง ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี ทั้งนี้ธนาคารกลางยุโรปตั้งเป้าอัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2 ทำให้มองว่าขณะนี้อยู่ในภาวะที่อาจเผชิญกับภาวะเงินฝืด ซึ่งจะส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยปรับลดลง และสภาพเศรษฐกิจอ่อนแอลงมากขึ้น นอกจากนี้อัตราการว่างงานของยูโรโซนในเดือน ต.ค. อยู่ที่ร้อยละ 11.5 ซึ่งเป็นอัตราเดิมในระยะสามเดือนติดต่อกัน
 
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปชนิดเบาคงคลังที่สิงคโปร์ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากสัปดาห์ก่อนหน้า อย่างไรก็ดีตลาดน้ำมันเบนซินยังค่อนข้างเสถียรเนื่องจากอุปทานที่คาดว่าจะตึงตัวช่วงปลายเดือน ธ.ค. ประกอบกับอุปสงค์ที่มีมากขึ้นจากตะวันออกกลาง
 
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากผู้ค้าชะลอการซื้อ หลังมองว่าราคาน้ำมันดีเซลยังมีแนวโน้มในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันดิบ ประกอบกันปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังที่สิงคโปร์รายสัปดาห์ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 นอกจากนี้ราคาน้ำมันยังได้รับแรงกดดันหลังอุปสงค์ที่แผ่วลงจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และศรีลังกา 
 
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 65-71 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 70-76 เหรียญฯ
 
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ติดตามท่าทีของตลาดที่ตอบรับต่อการคงกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกที่ระดับเดิมที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในการประชุมวันที่ 27 พ.ย ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าการประชุมจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่สมาชิกบางส่วนอย่างที่มีต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบสูง ได้แก่ เวเนซุเอลา อิหร่าน รวมถึงผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกที่มีต้นทุนสูงเช่นกัน ได้แก่ รัสเซีย ที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ระดับปัจจุบันยังแสดงความผิดหวังต่อมติการประชุม
 
ตลาดจับตาการหาวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของยูโรโซน ในการประชุมครั้งต่อไปของอีซีบีในวันที่ 4 ธ.ค. นี้  หลังประธานอีซีบีส่งสัญญาณถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการดูแลเงินเฟ้อให้ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มมาตรการ QE ในไตรมาสหน้าด้วย
 
โรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ยังคงทยอยกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง รวมถึงอากาศที่หนาวเย็นของสหรัฐฯ ส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจหนุนราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น
 
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันศุกร์ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซน - พ.ย. 57
อัตราการว่างงานของยูโรโซน - ต.ค. 57
วันเสาร์ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจจีน - ต.ค. 57
วันจันทร์ดัชนีการผลิตจีน - พ.ย. 57
ดัชนีการผลิตสหรัฐ (ISM) - พ.ย. 57
ดัชนีการผลิตสหรัฐ (Markit PMI) - พ.ย. 57
ดัชนีการผลิตยูโรโซน (Markit PMI) -พ.ย. 57
วันพุธตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ - พ.ย.57
ยอดค้าปลีกยูโรโซน - ต.ค. 57
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 ธ.ค. 2557 เวลา : 10:50:38

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:57 am