- ราคาน้ำมันเวสต์เท็กซัสปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดนับแต่เดือน ก.ค. 2552 ขณะที่ราคาน้ำมันเบรนท์ก็ปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 69 เหรียญสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในสัปดาห์ ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดนับแต่ปี 2553 ทั้งนี้เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มล้นตลาดมากขึ้นหลังสหรัฐฯ สามารถผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นมาในปีนี้ ประกอบกับการที่โอเปกเองยังยืนยันที่จะผลิตน้ำมันที่ระดับเดิมตามโควต้าการผลิตของตน นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นสูงสุดนับแต่เดือน มี.ค. 52 ยังคงกดดันราคาน้ำมัน
- นอกจากนี้ ตลาดยังคงตอบรับกับการที่ซาอุดิอาระเบียออกมาปรับลดราคาขายน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่องสำหรับน้ำมันดิบหลายชนิดที่ส่งขายไปยังสหรัฐฯ และเอชีย ได้แก่ Arab Heavy, Arab Light , Arab Extra Light เป็นต้น โดยรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของซาอุดิอาระเบียยังไม่ได้กล่าวถึงระดับราคาต่ำสุดที่ประเทศจะปรับลดลงไปได้ ทั้งนี้การปรับลดราคาของซาอุฯ เป็นไปเพื่อที่จะรักษาตลาดผู้ซื้อไว้เช่นเดิม
- ธนาคารใหญ่ของเยอรมนี Bundesbank ออกมาปรับลดคาดการณ์จีดีพีของเยอรมนีสำหรับปีนี้และปีหน้า โดยธนาคารมองว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจเยรมนีปีนี้จะขยายตัวที่ระดับ 1.4% จาก 1.9% ที่มองไว้เดิม ขณะเดียวกันก็ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวปีหน้าลงมาอยู่ที่ 1% จากที่เคยมองไว้ที่ 2% เมื่อเดือน มิ.ย.
+ การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ เดือน พ.ย. ปรับเพิ่มขึ้นมากถึง 321,000 ตำแหน่ง ซึ่งถือว่าสูงที่สุดนับแต่เดือน ม.ค. 55 ขณะที่อัตราการว่างงานยังคงยืนอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี ที่ 5.8% สะท้อนให้เห็นภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งมากขึ้น และอาจส่งผลต่อการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงกลางปีหน้าด้วย
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานน้ำมันเบนซินที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ล่าสุดสต๊อกน้ำมันเบนซินที่สิงคโปร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะที่การส่งออกของจีนก็มีอยู่อย่างต่อเนื่อง สวนทางกับความต้องการใช้ในภูมิภาคที่มีให้เห็นบางตาจากอินโดนีเซียเท่านั้น
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปทานน้ำมันดีเซลยังคงมีอยู่มาก ทั้งโรงกลั่นใหม่ในตะวันออกกลางยังพยายามที่จะส่งออกน้ำมันดีเซลมายังยุโรปหรือเอเชียอีกด้วย อย่างไรก็ดี การส่งออกจากจีนและโรงกลั่นแถบเอเชียเหนือที่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้สต๊อกน้ำมันดีเซลที่สิงคโปร์ปรับลดลง
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 65-71 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 68-74 เหรียญฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ผลกระทบจากการที่โอเปกตัดสินใจคงกำลังการผลิตเอาไว้ อาจทำให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน โดยเฉพาะรัสเซีย อิหร่าน เวเนซุเอลา และไนจีเรีย ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ ซ้ำเติมสภาวะเศรษฐกิจของบางประเทศที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบที่ต่ำนี้ อาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วเติบโตได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากทุกประเทศในกลุ่มดังกล่าวเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบ
ตลาดเฝ้าจับตาและยังคงมีความหวังว่ามาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของอีซีบีจะมีประสิทธิภาพและจะสามารถแก้ไขปัญหาเงินฝืด รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ในยูโรโซนได้ ซึ่งจะช่วยทำให้อุปสงค์น้ำมันของภูมิภาคกลับมาดีขึ้น
รายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน ธ.ค. ของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) โอเปก รวมถึงจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ในวันที่ 9 ธ.ค. 10 ธ.ค. และ 12 ธ.ค. ตามลำดับ ว่าจะมีการปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบโลกในปีนี้และปีหน้าลงอีกหรือไม่
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันจันทร์ตัวเลขดุลการค้าจีน - พ.ย. 57
วันอังคารดัชนีผู้ผลิตจีน - พ.ย. 57
ดัชนีผู้บริโภคจีน - พ.ย. 57
อัตราเงินเฟ้อจีน - พ.ย. 57
วันพฤหัสบดีจำนวนผู้ที่ขอรับสวัสดิการครั้งแรกสหรัฐฯ- ธ.ค.57
ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ - พ.ย. 57
วันศุกร์ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน - ต.ค. 57
ยอดค้าปลีกจีน - ต.ค. 57
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน - ต.ค. 57
ดัชนีผู้ผลิตสหรัฐฯ - พ.ย. 57
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ - ธ.ค.57
ข่าวเด่น