- ราคาปิดน้ำมันดิบทั้งเวสต์เท็กซัสของสหรัฐฯ และน้ำมันดิบเบรนท์ในวันที่ 29 ธ.ค. ทั้งคู่ปรับตัวลดลงมากกว่า 1 เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับ 53.61 และ 57.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นราคาน้ำมันดิบที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2553 โดยสาเหตุหลักยังคงอยู่ที่ความกังวลของตลาดต่ออุปทานน้ำมันที่ล้นตลาดจากการเข้ามาในตลาดของน้ำมัน Shale Oil รวมไปถึงการคาดการณ์ความต้องการน้ำมันที่ลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว
- ถึงแม้ว่า จะมีเหตุไฟไหม้ถังเก็บน้ำมันที่ท่าเรือของคลังส่งออกน้ำมัน ที่เมือง Es Sider ซึ่งเป็นคลังส่งออกน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของประเทศลิเบีย จากการโจมตีของกลุ่มก่อความไม่สงบในประเทศ จะทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียลดลงเหลือเพียง 352,000 บาร์เรลต่อวัน แต่แรงสนับสนุนนี้ไม่ได้ส่งผลต่อตลาดซื้อขายที่ยังคงมีความกังวลในด้านอุปทานที่ล้นตลาดและการที่กลุ่มโอเปกยังคงรักษาระดับการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มเอาไว้ในระดับเดิม
- กลุ่มโอเปกไม่ต้องการที่จะลดกำลังการผลิตของกลุ่มลง ถึงแม้ว่าการลดกำลังการผลิตจะกระตุ้นราคาน้ำมันดิบให้สูงขึ้น แต่วิธีดังกล่าวจะทำให้กลุ่มโอเปกสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดน้ำมันดิบให้กับน้ำมัน Shale Oil ของสหรัฐฯ โดยล่าสุดประเทศซาอุดิอาระเบียยังไม่มีมีทีท่าปรับกำลังการผลิตลงเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน
+ Baker Hughes บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ได้รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯว่า มีจำนวนลดลงสู่ระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา โดยลดลงเหลือเพียง 1,499 แท่น จากที่เคยสูงที่สุดที่ระดับ 1,609 แท่นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้สาเหตุมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก ซึ่งระดับราคาน้ำมันดิบในปัจจุบันทำให้การขุดเจาะน้ำมันในบางแหล่งไม่คุ้มค่ากับการลงทุนอีกต่อไป
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ถึงแม้ว่าประเทศจีนผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของภูมิภาคจะลดราคาขายปลีกลง แต่ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในภูมิภาคยังคงซบเซา เนื่องจากมีความต้องการใช้จากประเทศอินโดนีเซียผู้นำเข้าน้ำมันเบนซินรายใหญ่ของเอเชียยังไม่สูงมากนัก
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องมาจากตลาดที่ซบเซาจากเทศกาลวันหยุดสิ้นปี ประกอบกับการส่งออกน้ำมันดีเซลของประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึง 58.9% สู่ระดับ 1.05 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 53-58 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 56-61 เหรียญฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาท่าทีของกลุ่มโอเปกและการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ต่อภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดที่คอยกดดันราคาน้ำมันดิบให้อยู่ในระดับต่ำ
จับตาผลกระทบของราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงต่อเศรษฐกิจโลก ที่ถึงแม้ราคาที่ลดลงจะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจโลกโดยรวมก็ตาม แต่ผู้ส่งออกน้ำมันบางประเทศ เช่น รัสเซีย ไนจีเรีย และเวเนซุเอลา อาจต้องเผชิญกับสภาวะความไม่สมดุลทางการเงิน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เกิดการไหลออกของเงินทุน ทำให้ค่าเงินอ่อนตัวลงจนเกิดแรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้จากการเชื่อมโยงของระบบการเงินทั่วโลก สถานการณ์เหล่านี้อาจบานปลายและกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมก็เป็นได้
ติดตามวิกฤตการณ์เงินรูเบิลอ่อนค่าของรัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก ภายหลังทางการรัสเซียมีมาตรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 10.5% เป็น 17% และเรียกร้องให้ผู้ส่งออกรายใหญ่ขายเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น มาตรการเหล่านี้ช่วยให้ค่าเงินรูเบิลฟื้นตัวกลับมาจากระดับกว่า 60 รูเบิลต่อเหรียญสหรัฐฯ มาเป็นประมาณ 55 รูเบิลต่อเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่การใช้นโยบายให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงนี้ ส่งผลให้ธนาคาร Trust Bank ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 15 ของรัสเซีย ประสบปัญหาทางการเงิน ธนาคารกลางรัสเซียจึงต้องนำเงินเข้าช่วยเหลือเพื่อป้องกันไม่ให้ธนาคารดังกล่าวล้มละลาย
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันอังคารดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ - ธ.ค. 57
วันพฤหัสบดีดัชนีภาคการผลิตจีน - ธ.ค. 57
วันศุกร์ดัชนีภาคการผลิตของยูโรโซน - ธ.ค. 57
ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ - ธ.ค. 57
วันเสาร์ดัชนีภาคการบริการจีน - ธ.ค. 57
ข่าวเด่น