- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลงมาปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง สาเหตุเนื่องจากความกังวลในปัญหาอุปทานล้นตลาด หลังกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันทั้งจากกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกยังไม่ปรับลดกำลังการผลิตลง ซึ่งสะท้อนได้จากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียในเดือน ธ.ค. 57 ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลังสิ้นสุดยุคสหภาพโซเวียตที่ 10.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ อิรักที่ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ธ.ค. 57 ปรับเพิ่มขึ้นมาแตะระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2523 ซึ่งปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นมาจากทางตอนใต้ของประเทศเป็นหลัก
-/+ ซาอุดิอาระเบียประกาศปรับลดราคาขายน้ำมันดิบ (OSPs) อาหรับไลท์ สำหรับในเดือน ก.พ. 58 ที่จะขายไปยังตลาดสหรัฐฯ และยุโรป ลดลงเท่ากับ 0.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 1.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ สาเหตุหลักคาดว่าจะมาจากการรักษาส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ จากผู้ผลิต Shale Oil และการรักษาตลาดในยุโรปจากกลุ่มผู้ผลิตในแอฟริกา อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดเอเชียมีการปรับราคาขายเพิ่มขึ้น 0.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
- ค่าเงินยูโรยังคงปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปรับตัวลดลงมาแตะระดับที่ต่ำสุดตั้งปี 49 สาเหตุหลักเนื่องมาจากการส่งสัญญาณของ ECB ที่คาดว่าอาจจะมีการใช้มาตรการซื้อพันธบัตร (QE) หลังมีความเสี่ยงในการเผชิญภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจที่ยังคงไม่ฟื้นตัว ประกอบกับความกังวลในประเด็นการเลือกตั้งของกรีซ หลังผลสำรวจการเลือกตั้งเผยว่าพรรคไซรีซา ซึ่งเป็นฝ่ายค้านมีแนวโน้มที่จะได้คะแนนเสียงมากกว่า ซึ่งอาจจะส่งผลให้กรีซเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้และอาจทำให้ต้องพ้นออกจากกลุ่ม
- ผลการสำรวจนักวิเคราะห์ของ Reuters คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 ม.ค. 58 ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล สำหรับปริมาณน้ำมันเบนซินและดีเซลคงคลังคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 2.8 ล้านบาร์เรล และ 4.0 ล้านบาร์เรล ตามลำดับ ซึ่งจากการประเมินโดยนักวิเคราะห์หากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นคาดจะกดดันราคาให้อยู่ในระดับ 40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ สาเหตุเนื่องจากอุปสงค์ในภูมิภาคที่เบาบาง โดยเฉพาะจากผู้เล่นหลักอย่างอินโดนีเซียและเวียดนาม สำหรับอินโดนีเซียนั้นคาดว่าปริมาณการนำเข้าในเดือน ม.ค. 58 จะอยู่ที่ประมาณ 9.1 ล้านบาร์เรล ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 10 ล้านบาร์เรล สาเหตุหลักเนื่องมาจากการประกาศลดเงินอุดหนุนน้ำมันเบนซินและดีเซลลง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ แม้ว่าอุปทานน้ำมันดีเซลในภูมิภาคจะยังคงอยู่ในระดับสูงก็ตาม โดยอุปทานที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนหนึ่งมาจากอินเดียและตะวันออกกลางที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับอุปสงค์ในภูมิภาคจากผู้เล่นหลักอย่างอินโดนีเซียที่คาดว่าจะลดลง หลังมีการประกาศลดเงินอุดหนุนน้ำมันเบนซินและดีเซลลง
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 50-55 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 52-57 เหรียญฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาท่าทีของกลุ่มโอเปกและการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ต่อภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดที่คอยกดดันราคาน้ำมันดิบให้อยู่ในระดับต่ำ
จับตาผลกระทบของราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงต่อเศรษฐกิจโลก ที่ถึงแม้ราคาที่ลดลงจะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจโลกโดยรวมก็ตาม แต่ผู้ส่งออกน้ำมันบางประเทศ เช่น รัสเซีย ไนจีเรีย และเวเนซุเอลา อาจต้องเผชิญกับสภาวะความไม่สมดุลทางการเงิน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ติดตามวิกฤตการณ์เงินรูเบิลของรัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก หลังทางการรัสเซียมีมาตรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเรียกร้องให้ผู้ส่งออกรายใหญ่ขายเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อหวังให้ค่าเงินรูเบิลฟื้นตัว อย่างไรก็ดี การใช้นโยบายนี้ทำให้ธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 15 ของรัสเซียอย่าง Trust Bank ประสบปัญหาทางการเงิน ส่งผลต่อเนื่องให้ธนาคารกลางรัสเซียจำเป็นต้องนำเงินเข้าช่วยเหลือเพื่อป้องกันไม่ให้ธนาคารดังกล่าวล้มละลาย
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันจันทร์ยอดขายรถยนต์สหรัฐฯ - ธ.ค. 57
วันอังคารยอดสั่งซื้อสินค้าโรงงานสหรัฐฯ -พ.ย. 57
ดัชนีภาคการบริการสหรัฐฯ - ธ.ค. 57
ดัชนีภาคการบริการจีน (HSBC) - ธ.ค. 57
ดัชนีภาคการผลิตของยูโรโซน (Markit) - ธ.ค. 57
ดัชนีภาคบริการของยูโรโซน (Markit) - ธ.ค. 57
วันพุธอัตราเงินเฟ้อยูโรโซน- ธ.ค. 57
อัตราการว่างงานยูโรโซน- พ.ย. 57
การจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ - ธ.ค. 57
วันพฤหัสยอดค้าปลีกยูโรโซน - ธ.ค. 57
วันศุกร์ดัชนีผู้บริโภคจีน - ธ.ค. 57
อัตราการว่างงานสหรัฐฯ - ธ.ค. 57
ข่าวเด่น