ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวขึ้น หลังแตะระดับเกือบต่ำสุดในรอบ 6 ปี โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการซื้อเพื่อปิดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่ล้นตลาด หลังผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ในกลุ่มโอเปกออกมายืนยันว่าจะไม่ลดกำลังการผลิต เพื่อที่จะรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้
- ธนาคารโลก คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2015 จะเติบโตราว 3% ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ในเดือน มิ.ย. 57 ก่อนหน้านี้ ที่ 3.4% อย่างไรก็ดี ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าประเทศกำลังพัฒนาจะเติบโตมากขึ้นในปีนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง ในขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯแข็งแกร่งมากขึ้น ในทางกลับกัน ประเทศในแถบยุโรปและญี่ปุ่นได้มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างช้า เนื่องจากผลของภาวะวิกฤติทางการเงินที่ยังคงมีอยู่ นอกจากนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลง แต่ยังคงเติบโตอย่างในระดับสูงที่ 7.1 % ต่อปี (จาก 7.4 % ในปี 2557)
- สำนักงานข้อมูลสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 5.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ณ วันที่ 9 ม.ค. 58 สวนทางกลับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 417,000 บาร์เรล ในขณะที่ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 3.2 ล้านบาร์เรล น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 3.5 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ปริมาณน้ำมันมันดีเซลคงคลัง ปรับเพิ่มขึ้น 3.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.1 ล้านบาร์เรล
+/- ประธานาธิบดีของอิหร่านออกมาให้ความเห็นว่า การทรุดตัวลงของน้ำมันดิบจะทำให้เศรษฐกิจของผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่างซาอุดิอาระเบีย และคูเวตได้รับผลกระทบมากกว่าอิหร่าน เนื่องจากอิหร่านพึ่งพาการส่งออกน้ำมันดิบน้อยกว่าซาอุดิอาระเบีย และคูเวต อย่างไรก็ตาม อิหร่านได้รับผลกระทบจากการถูกคว่ำบาตรโดยกลุ่มประเทศตะวันตก หลังประเทศมีโครงการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ และยังไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาเรื่องโครงการนิวเคลียร์จนกว่าจะถึงเดือน มิ.ย. 58 โดย ในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา อิหร่านสามารถผลิตน้ำมันได้เพียง 2.77 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงมากจากกำลังการผลิตในปี 54 ที่ระดับ 3.58 ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ในขณะที่อุปทานยังคงล้นตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังโรงกลั่นในไต้หวันกลับมาดำเนินการผลิตได้ตามปกติหลังจากปิดซ่อมฉุกเฉิน อย่างไรก็ดีคาดว่าจะมีการส่งออกจากยุโรปมาสู่ภูมิภาคเอเชียมากขึ้น นอกจากนี้ อุปสงค์ที่ยังคงอ่อนตัวเนื่องจากภาวะอากาศที่แปรปรวนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียเหนือ ส่งผลความต้องการใช้น้ำมันเบนซินเพื่อการโดยสารและเดินทางลดน้อยลง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเล็กน้อย เนื่องจากอุปทานยังคงล้นตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอินเดียและไต้หวัน หลังโรงกลั่นในไต้หวันกลับมาดำเนินการผลิตได้ตามปกติหลังจากปิดซ่อมฉุกเฉิน อย่างไรก็ดี อุปสงค์ในภูมิภาคยังคงอ่อนตัว
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 45-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 46-51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ติดตามภาวะอุปทานน้ำมันดิบที่ล้นตลาด หลังจากผู้ผลิตทั้งฝั่งโอเปกและนอกโอเปกยังไม่มีทีท่าที่จะลดกำลังการผลิตลง อย่างไรก็ดี ซาอุดิอาระเบียยืนยันว่าประเทศยังสามารถรับมือกับราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำได้ ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันที่ทรุดตัวลงจะส่งผลให้ซาอุดิอาระเบียขาดดุลงบประมาณปี 58 กว่า 3.86 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังจากที่มีงบประมาณเกินดุลอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี
ติดตามวิกฤติเศรษฐกิจของรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก หลังเศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำ รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หลังเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรจากกลุ่มประเทศตะวันตก ส่งผลให้ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์
ความกังวลในประเด็นการเลือกตั้งของกรีซที่จะจัดขึ้นในวันที่ 25 ม.ค. 57 ซึ่งเป็นการชี้ชะตาว่ากรีซจะสามารถรั้งสถานภาพการเป็นสมาชิกยูโรโซนต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งหากพรรคฝ่ายค้าน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ก็อาจจะส่งผลให้กรีซเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ และพ้นจากการเป็นชาติสมาชิกของยูโรโซน เนื่องจากหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านมีแนวโน้มที่จะยุติมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งขัดแย้งกับเงื่อนไขที่กลุ่มยูโรโซนตั้งไว้
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันพฤหัสยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ - ธ.ค. 57
ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐฯ - ธ.ค. 57
จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ - 9 ม.ค.
วันศุกร์ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน - ธ.ค. 57
ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐ - ธ.ค. 57
ข่าวเด่น