+ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น หลังรายงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงปิโตรเลียม ประเทศซาอุดิอาระเบีย คาดแนวโน้มของอุปสงค์น้ำมันดิบจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 58 ประกอบกับความกังวลด้านอุปทานในประเทศลิเบียและอิรัก โดยราคาเฉลี่ยเดือน ก.พ. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 57 ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเพิ่มขึ้น 7% ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เพิ่มขึ้น 18% จากเดือนก่อนหน้า
+ ปริมาณอุปทานน้ำมันดิบจากผู้ผลิตกลุ่มโอเปกในเดือน ก.พ. 58 ล่าสุดลดลงเหลือ 29.92 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าเป้าการผลิตที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน สาเหตุหลักเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในลิเบียส่งผลให้มีการปิดท่าเรือขนส่งน้ำมันและแหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบ นอกจากนี้ สภาพอากาศที่ย่ำแย่ทำให้การขนส่งทางเรือในตอนใต้ของอิรักต้องล่าช้าออกไป อย่างไรก็ดี ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากอิรักที่ลดลงคาดว่าจะเป็นเพียงปัจจัยในระยะสั้นเท่านั้น
- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากได้รับปัจจัยกดดันจาก ตัวเลขรายงานจำนวนแหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ รายสัปดาห์โดย บริษัท Baker Hughes ที่ลดลงเพียง 33 แห่ง เหลือจำนวนแหล่งขุดเจาะที่ 986 แห่ง ประกอบกับรายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 8.4 ล้านบาร์เรล สูงกว่าที่คาดไว้กว่า 2 เท่า เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในสหรัฐฯ
- ประมาณการครั้งที่ 2 ของตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 4 ของสหรัฐฯ ขยายตัวลดลงเล็กน้อยจากการคาดการณ์ก่อนหน้าโดยเหลือขยายตัวที่ 2.2% จาก 2.6% เนื่องจากอัตราการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนของภาคเอกชนชะลอตัว
- ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ เดือน ก.พ. ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ 54.3 จุด จาก 53.9 จุดในเดือน ม.ค. แม้ว่าตัวเลขที่สูงกว่า 50 จุดบ่งบอกว่าภาคการผลิตขยายตัว อย่างไรก็ดี ตัวเลขนี้ยังต่ำกว่าระดับเฉลี่ยในปี 57 ที่ 55.9 จุด โดยสาเหตุมาจากยอดคำสั่งซื้อใหม่และจ้างงานที่ลดลง ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ปรับลดลงจากเดือน ม.ค.ที่ 98.1 จุด เหลือ 95.4 จุด ในเดือน ก.พ. เนื่องจากความกังวลต่อสภาพอากาศที่หนาวเย็นและราคาน้ำมันที่มีทิศทางสูงขึ้น
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังชนิดเบาของสิงค์โปร์อยู่ในระดับสูงที่ 13.42 ล้านบาร์เรล อย่างไรดี ราคาน้ำมันเบนซินที่สิงคโปร์ได้รับแรงสนับสนุนจากราคาน้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ หลังอุปทานลดลงจากการยืดระยะเวลาการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น รวมทั้งอุปสงค์ที่มีอย่างต่อเนื่องก่อนเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันของสหรัฐฯ ในไตรมาส 2
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์จากอินโดนีเซียยังคงอ่อนตัว หลังจากความต้องการใช้ในประเทศลดลง และปริมาณสต็อกอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี อุปทานในตลาดลดลงหลังปริมาณการส่งออกจากประเทศในเขตเอเชียเหนือ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน น้อยลง เนื่องจากโรงกลั่นอยู่ในช่วงปิดซ่อมบำรุง ประกอบกับรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซลของจีน เดือน ม.ค. ที่ลดลง เนื่องจากมีการเก็บสต็อกก่อนเข้าสู่วันหยุดช่วงเทศกาลปีใหม่จีน
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 58-63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ติดตามการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) วันที่ 5 มี.ค. ต่อความคืบหน้าของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดย ECB จะเริ่มอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ในเดือน มี.ค. นี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาและรับมือกับภาวะเงินฝืดในยูโรโซน โดย ECB จะดำเนินมาตรการ QE เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวจะมีมูลค่าอย่างน้อย 1.1 ล้านล้านยูโร (1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยมาตรการนี้จะมีผลตั้งแต่เดือน มี.ค. 2558 จนถึงเดือน ก.ย. 2559
โรงกลั่นน้ำมันสหรัฐฯ ในเขต East Coast ยังคงได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันดิบอ่อนตัวลง นอกจากนี้การชะลอการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปทำให้ตลาดเกิดความกังวลต่อปริมาณอุปทานของกลุ่มน้ำมันสำหรับทำความร้อนที่อาจตึงตัวในระยะสั้น
ติดตามทิศทางเศรษฐกิจของกรีซและยูโรโซน หลังจากที่รัฐมนตรีคลังยูโรโซนอนุมัติให้ขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซออกไปอีก 4 เดือน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการอนุมัติแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลกรีซไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ก.พ.58 โดยกรีซจะดำเนินการตามแผนปฏิรูปเศรษฐกิจนี้ในเดือน ก.ค. ซึ่งมาตรการต่างๆ ประกอบด้วย การปราบปรามการเลี่ยงภาษี การจัดตั้งระบบการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรมยิ่งขึ้น การแก้ปัญหาการลักลอบขนส่งเชื้อเพลิงและยาสูบ การปฏิรูปด้านแรงงาน ซึ่งทางยูโรโซนเผยว่าแผนการดังกล่าวค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ ทำให้ตลาดเริ่มผ่อนคลายความกังวลจากการที่กรีซอาจจะต้องเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ และพ้นจากการเป็นสมาชิกยูโรโซน
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันพฤหัสดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ - ม.ค.
ความเชื่อมันผู้บริโภคยูโรโซน - ก.พ.
ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ - ม.ค.
วันศุกร์จีดีพีสหรัฐฯ - Q4/14
ดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) สหรัฐฯ - ก.พ.
รายจ่ายในการบริโภคของบุคคลสหรัฐฯ - Q4/14
ดัชนีความเชื่อมันผู้บริโภคสหรัฐฯ (Reuters/Michigan) - ก.พ.
ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ (Chicago PMI) - ก.พ.
วันอาทิตย์ดัชนีภาคการผลิตจีน (PMI) - ก.พ.
ดัชนีภาคการบริการจีน (PMI) - ก.พ.
วันจันทร์ดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน (Markit PMI) - ก.พ.
ดัชนีราคาผู้ผลิตยูโรโซน (Markit PMI) - ก.พ.
ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ (ISM PMI) - ก..พ
วันอังคารดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน - ม.ค.
ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ (Markit PMI) - ก.พ.
วันพุธยอดค้าปลีกยูโรโซน - ม.ค.
วันศุกร์จีดีพียูโรโซน - Q4/14
รายได้นอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ - ก.พ.
อัตราการว่างงานสหรัฐฯ - ก.พ.
ข่าวเด่น